30 เมษายน 2554

การสร้างความประทับใจต่อผู้อื่น

 คุณสมบัติแห่งการเป็นผู้นำ:
ตอนที่ 2

คุณจะสร้างความประทับใจกับผู้อื่นได้อย่างไร “จงให้ความสำคัญกับการทำให้ผู้อื่นรู้สึกดีต่อตัวเขาเอง มากกว่าที่จะให้เขารู้สึกดีต่อตัวคุณ” (แดน ไรแลนด์)
คนส่วนใหญ่คิดว่าการสร้างความประทับใจต่อผู้อื่นเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจ และแทบจะหาคำมาอธิบายไม่ได้ คนส่วนใหญ่คิดว่าคุณสมบัติข้อนี้เป็นสิ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดเท่านั้น แต่ในความเป็นจริง การสร้างความประทับใจต่อผู้อื่นนั้นสามารถอธิบายง่ายๆ ก็คือ ความสามารถในการดึงดูดผู้คนมาหาคุณนั่นเอง และก็เช่นเดียวกันกับคุณสมบัติข้ออื่นๆ เราสามารถพัฒนาบุคลิกภาพให้เป็นที่น่าประทับใจต่อผู้อื่นได้ อย่างไรก็ตามบทเรียนนี้ไม่ได้เน้นการสร้างภาพ หรือการสร้างบุคลิกภาพแต่เพียงภายนอกอย่างเดียว ซึ่งก็เป็นเรื่องจำเป็นเช่นกัน เพราะเราต้องติดต่อสื่อสารต่อผู้อื่น

ดังนั้นการพัฒนาตัวเราให้มีบุคลิกให้เป็นที่น่าประทับใจต่อผู้อื่น เราต้องฝึกสิ่งต่อไปนี้จนเป็นนิสัยประจำตัวซึ่งต้องออกมาจากภายในอย่างเป็นธรรมชาติของชีวิต เพราะการกระทำภายนอกย่อมสะท้อนสิ่งที่ออกมาจากภายในทั้งสิ้น ดังเช่น พระธรรม มัทธิว 15:18 บอกว่า “แต่สิ่งที่ออกจากปากก็ออกมาจากใจ สิ่งนั้นแหละทำให้มนุษย์เป็นมลทิน” หรือพระธรรม ลูกา 6:43 บอกว่า “ด้วยว่าต้นไม้ดีย่อมไม่เกิดผลเลว หรือต้นไม้เลวย่อมไม่เกิดผลดี”

           คุณสมบัติด้านการสร้างความประทับใจต่อผู้อื่น เป็นคุณสมบัติที่จำเป็นสำหรับผู้นำที่ต้องการประสบความสำเร็จ มี 4 ประการ ดังนี้

1. มีความกระตือรือร้น
            ใครๆ ก็ชื่นชอบผู้นำที่มีความกระตือรือร้นในชีวิต ลองนึกถึงคนที่คุณต้องการจะใช้เวลาด้วยว่าเขาเป็นอย่างไร เป็นคนจู้จี้ขี้บ่น หรือเป็นคนขมขื่นต่อชีวิต หรือเป็นคนหดหู่ ฯลฯ แน่นอน เราคงไม่อยากมีผู้นำที่มีลักษณะดังกล่าว แต่ในทางตรงกันข้ามเราอยากใช้เวลากับคนที่ร่าเริง ไม่จู้จี้ขี้บ่น และมีความกระตือรือร้น หากคุณอยากเป็นคนที่น่าประทับใจต่อผู้อื่น คุณต้องมีลักษณะเช่นเดียวกันกับคนที่คุณอยากใช้เวลาด้วย จอห์น เวสเลย์ นักประกาศผู้ฟื้นฟูประเทศจีนในช่วงศตวรรษที่ 18 ได้กล่าวไว้ว่า “ยามที่คุณเต็มไปด้วยความกระตือรือร้นราวกับมีไฟเผา ผู้คนก็จะแห่กันมาดูคุณที่ลุกโชติช่วง”
            อาจารย์เปาโลเป็นผู้หนึ่งที่มีความกระตือรือร้นในการปรนนิบัติรับใช้พระเจ้า "ข้าพเจ้าเป็นยิว เกิดในเมืองทาร์ซัสแคว้นซีลีเซีย แต่ได้เติบโตขึ้นในเมืองนี้ และได้เล่าเรียนกับท่านอาจารย์กามาลิเอล ตามธรรมบัญญัติของบรรพบุรุษของเราโดยถี่ถ้วนทุกประการ จึงมีใจร้อนรนในการปรนนิบัติพระเจ้า เหมือนอย่างท่านทั้งหลายทุกวันนี้ (กจ.22:3)

2. เห็นคุณค่าผู้อื่น
ในพระธรรม 1 โครินธ์ 13:7 ได้บอกความจริงเกี่ยวกับความรักเอาไว้ว่า “ความรักทนได้ทุกอย่างแม้ความผิดของคนอื่น และเชื่อในส่วนดีของเขาอยู่เสมอ และมีความหวังอยู่เสมอ และทนต่อทุกอย่าง”
การเห็นคุณค่าผู้อื่นเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสิ่งหนึ่ง ที่คุณสามารถทำเพื่อผู้อื่นได้ โดยที่คุณไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไรเลย หรือคุณไม่ต้องจ่ายราคาอะไร ซึ่งก็เป็นอีกวิธีหนึ่งในการสร้างความประทับใจต่อผู้อื่นเช่นกัน การสร้างความประทับใจก็คือการคาดหวังสิ่งที่ดีที่สุดในตัวเขา เราอาจเรียกวิธีนี้ว่าเป็นการให้คะแนนเต็ม “10” แก่ทุกคน นี่เป็นวิธีที่ช่วยให้ผู้อื่นมองตนเองในแง่ดี และในขณะเดียวกันก็เป็นการช่วยตัวเราเองไปในตัว ตามที่ ฌ้าค วีเซล ได้สรุปผลการวิจัยทัศนะคติเศรษฐีผู้ร่ำรวยพบว่า “จากผลสำรวจทัศนคติเศรษฐีเงินล้านจำนวนหนึ่งร้อยคน ที่สร้างฐานะขึ้นมาด้วยลำแข้งตนเอง พบว่า พวกเขามีสิ่งหนึ่งที่มีความคล้ายกัน นั่นก็คือ ผู้ประสบความสำเร็จอย่างสูงเหล่านี้ มองเห็นแต่ข้อดีในผู้อื่น” หากคุณเห็นถึงคุณค่าของผู้อื่น รู้จักให้กำลังใจเขา และช่วยเขาให้บรรลุถึงศักยภาพของเขาเอง พวกเขาก็จะมีใจเต็มร้อยต่อคุณเช่นกัน

3. เป็นนักให้กำลังใจที่ดี
นโปเลียน โบนาปาร์ต นายพลฝรั่งเศส ให้คำนิยามผู้นำไว้ว่า เป็น “นักค้าความหวัง” เฉกเช่นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ทั้งปวง นโปเลียนรู้ว่า ความหวังคือสมบัติสุดล้ำค่า หากคุณเป็นผู้ที่สามารถมอบของขวัญชิ้นนี้แก่ผู้อื่นได้ ผู้ที่อยู่ภายใต้ก็อยากเข้าใกล้คุณ และจะรู้สึกดีคุณตลอดไป ตัวอย่างผู้รับใช้ที่ได้รับฉายาว่า “นักให้กำลังใจ” คือ บานาบัส (กจ.4:36 …บารนาบัส แปลว่าลูกแห่งการหนุนน้ำใจ…) นอกจากนี้พระวจนะย้ำเสมอให้เราเป็นนักให้กำลังใจผู้อื่นโดยเฉพาะผู้นำ
1เธสะโลนิกา 5:14 และพี่น้องทั้งหลาย เราขอวิงวอนพวกท่านให้ตักเตือนคนที่เกียจคร้าน หนุนน้ำใจผู้ที่ท้อใจ ชูกำลังคนที่อ่อนกำลัง และมีใจอดเอาเบาสู้ต่อคนทั้งปวง

4. เรียนรู้ที่จะแบ่งปันชีวิตต่อกัน
พระธรรม กาลาเทีย 6:2 บอกว่า “จงช่วยรับภาระของกันและกัน ท่านจึงจะได้ปฏิบัติตามพระบัญญัติของพระคริสต์”
การแบ่งปันชีวิตต่อกันและกันค่อนข้างเป็นเรื่องยากสำหรับวัฒนธรรมของคนไทย หรือคนเอเชีย ผู้นำต้องกล้าแบ่งปันชีวิตตนเองหรือวิถีชีวิตของตนเองแก่ผู้อื่น ขณะที่คุณเป็นผู้นำมีบทบาทหน้าที่ เช่น อยู่ในฐานะผู้บังคับบัญชาในหน่วยงานของคุณ หรือ เป็นหัวหน้าครอบครัว ฯลฯ จงรู้จักแบ่งปันชีวิตของคุณเองต่อผู้อื่น เช่น คุณสามารถแบ่งปันความรู้สึกต่อกัน แบ่งปันสติปัญญาความสามารถ แบ่งปันทรัพยากร และแบ่งปันแม้กระทั่งโอกาสพิเศษต่างๆ เช่น วันเกิด วันครบรอบแต่งงาน วันสำคัญต่างๆ ผู้นำที่รู้จักแบ่งปันชีวิตต่อกันและกันเป็นการลดระยะห่างของความรู้สึกของผู้อยู่ภายใต้ได้อย่างดี

การประยุกต์เพื่อนำไปปฏิบัติ :
ในการพัฒนาคุณสมบัติด้านการสร้างความประทับใจต่อผู้อื่น
จงทำสิ่งต่อไปนี้
1. เบนความสนใจของคุณ ลองสังเกตคำสนทนาของคุณ ขณะพูดคุยกัน ลองสังเกตดูว่าคำสนทนาของคุณมุ่งไปที่ตัวคุณมากน้อยแค่ไหน ถ้าการสนทนาของคุณให้ความสนใจไปที่ตัวคุณเป็นส่วนใหญ่ คุณต้องเบนความสนใจที่ตัวของคุณไปยังคนที่คุณสนทนาด้วย เพื่อความเหมาะสมจงหาทางเบนความสนใจไปยังผู้อื่น
2. ฝึกสร้างความประทับใจแรกพบ ลองทำดังนี้ ครั้งใดที่คุณพบใครเป็นครั้งแรก จงพยายามอย่างที่สุดในการสร้างความประทับใจ ฝึกที่จะจำชื่อคนให้แม่น ให้ความสนใจในสิ่งที่เขาสนใจ รวมทั้งมีทัศนคติที่ดี และที่สำคัญที่สุดก็คือ จงปฏิบัติต่อผู้อื่นแบบให้คะแนนเต็ม “10” แก่เขา หากคุณสามารถทำเช่นนี้ได้หนึ่งวัน คุณก็จะสามารถทำเช่นนี้ได้เรื่อยๆ ทุกวัน และนั่นก็จะเป็นการสร้างคุณสมบัติที่สร้างความประทับใจแก่ผู้อื่นอย่างเป็นลักษณะชีวิตของเรา
3. แบ่งปันชีวิตต่อกันและกัน ตั้งเป้าหมายระยะยาวที่คุณจะแบ่งปันชีวิตของคุณแก่ผู้อื่น หาทางที่จะเพิ่มพูนคุณค่าชีวิตให้กับคนใกล้ตัว ซึ่งอาจเป็นสมาชิกในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน พนักงาน หรือเพื่อนฝูง และอย่าลืมแบ่งปันวิถีทางดำเนินชีวิตของคุณเองกับผู้อื่นด้วย

คำถามเพื่ออภิปราย :
คุณจะให้คะแนนตัวเองอย่างไรในเรื่องการสร้างความประทับใจต่อผู้อื่น? คุณดึงดูดใจคนได้โดยง่ายหรือไม่? คุณเป็นที่น่าชื่นชอบหรือไม่? หากคำตอบคือไม่คุณคิดว่าอะไรที่เป็นอุปสรรค? ให้แบ่งปันร่วมกัน

ข้อพระคัมภีร์สำหรับท่องจำ :
ฟิลิปปี 2:15 “เพื่อท่านทั้งหลายจะไม่ถูกติเตียน และไม่มีความผิด เป็นบุตรที่ปราศจากตำหนิของพระเจ้าในท่ามกลางพงศ์พันธุ์ที่คดโกงและวิปลาส ท่านปรากฏในหมู่พวกเขาดุจดวงสว่างต่างๆ ในโลก”

ที่มา: John C. Maxwell, 21 คุณสมบัติหลักแห่งการเป็นผู้นำ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น