26 มิถุนายน 2554

เทศกาลชีวิตเปี่ยมสุข

 
คริสตจักรแห่งสันติภาพขอเชิญพี่น้องสมาชิกคริสตจักรแห่งสันติภาพทุกท่าน เข้าร่วมสัมนาในหัวข้อ "เทศกาลชีวิตเปี่ยมสุข" โดย จอยซ์ ไมเออร์ และ ดีโน่ ริซโซ่ ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 22 มกราคม 2012 ที่อิมแพค อารีน่า เมืองทองธานี เริ่มเวลา 13.30 น. เป็นต้นไป สมัครโดยใช้โควต้าของคริสตจักรได้ในราคาเพียงท่านละ 100 บาทเท่านั้น สามารถติดต่อผ่านคุณขิมที่เว็บไซต์ของคริสตจักร www.churchofpeace2010.org

25 มิถุนายน 2554

การตอบสนองที่ถูกต้อง


สรุปคำเทศนาวันอาทิตย์ที่ 19 มิถุนายน 2011

พระธรรม โคโลสี 4:15-18
อ.เปาโลได้ย้ำถึงความต้องการที่มีให้กับพี่น้องที่โคโลสีด้วยลายมือของท่านเอง ซึ่งสดงให้เห็นถึงคุณค่าของผู้นำ หรือผู้ที่มีอาวุโสกว่า อ.เปาโลย้ำว่าต้องให้เกียรติและเคารพนับถือกัน ต้องแสดงออกมาเป็นการกระทำภายนอก และคาดหวังว่าพี่น้องที่โคโลสีจะตอบสนองต่อคำกำชับของอ.เปาโลได้เป็นอย่างดี เพราะว่าการตอบสนองที่ถูกต้องย่อมนำมาซึ่งสิ่งดีต่างๆมากมาย และการตอบสนองอย่างถูกต้องนี้ไม่ใช่เพียงเฉพาะกับศิษยาภิบาลเท่านั้นแต่กับผู้นำทุกระดับและกับทุกคนที่ทำการดีเพื่อเพื่อพระเจ้า เราเห็นการตอบสนองที่ถูกต้องที่ อ.เปาโลคาดหวังไว้ 4 ประการ
1. ให้ความนับถือและขอบคุณ (คส.4:15)
อ.เปาโลได้บอกกับพี่น้องที่โคโลสีว่าให้แสดงความนับถือพวกพี่น้องที่เมืองเลานีเซียกับนางนุมฟาและคริสตจักรที่อยู่ในเรือนของนาง นั้นแสดงว่านางนุมฟาได้เปิดบ้านของตนออกเป็นคริสตจักร การทำเช่นนี้ได้ต้องเป็นคนที่มีใจรักพระเจ้าอย่างมาก เพราะว่าเมืองเลานีเซียเป็นเมืองที่ร่ำรวย คนที่เมืองนี้ไม่เอาพระเจ้าเพราะว่าลุ่มหลงไปกับความร่ำรวยจนพระเจ้าต่อว่าเป็นพวกแร้นแค้นเข็ญใจ (วว.3:17) อ.เปาโลจะแสดงความนับถือและขอบคุณคนที่ทำการดีเพื่อพระเจ้าอยู่เสมอ เช่น อารคิปปัสที่เปิดบ้านออกเป็นคริสตจักร (ฟม.2) (รม.16:3-4) (รม.16:6-7)  อ.เปาโลได้วิงวอนขอให้นับถือคนที่ทำงานดี เป็นผู้นำที่ดี (1ธส.5:12) เราต้องมีใจขอบพระคุณ เราต้องเห็นคุณค่าผู้ที่ทำสิ่งที่ดีโดยเฉพาะผู้นำที่ทำสิ่งที่ถูกต้องดีงาม พระคัมภีร์สอนไม่ให้เราแตะต้องผู้นำที่พระเจ้าเจิมไว้ (1พศด.16:22)  (1พกษ.13:1-4) เราต้องนึกถึงสิ่งดีที่พี่น้องได้ทำให้กับเรา เราต้องรู้จักขอบคุณคนอื่นที่ทำสิ่งที่ดี เราไม่ควรเห็นแก่ตัว  เราต้องยำเกรงผู้ที่สมควรได้รับ (รม.13:7) (ยน.21:17) เมื่อผู้นำรักแกะแล้วแกะต้องเห็นคุณค่าของผู้นำด้วย
2. ถ่ายทอดคำสอนต่อ (คส.4:16)
อ.เปาโลบอกว่าเมื่ออ่านจดหมายให้ส่งไปให้คริสตจักรที่เลานีเซียอ่านด้วยและก็ให้อ่านจดหมายที่มาจากเลานีเซียด้วย ซึ่งเป็นจดหมายที่ อ.เปาโลเขียนมาหนุนใจด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นการถ่ายทอดคำสอนต่อกันไปมา เพื่อทุกคนจะได้มีความเข้าใจแบบเดียวกัน มีเป้าหมายเดียวกัน มีภาระใจอย่างเดียวกัน มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน อ.เปาโลบอกให้พี่น้องที่เธสะโลนิกาอ่านจดหมายที่ อ.เปาโลเขียนไปถึงให้ทุกคนฟัง (1ธส.5:27)  อ.เปาโลหนุนใจทิโมธีให้สอนคนอื่นที่สัตย์ซื่อเพื่อคำสอนที่ได้รับมานั้นจะถูกสอนออกไปต่อ (2ทธ.2:2) เมื่อเราได้รับฟังคำสอน คำเทศนา คำหนุนใจ หรือว่าเป้าหมาย ภาระใจของผู้นำมาเราต้องสื่อสารต่อไป ให้ทุกคนมีความเข้าใจอย่างเดียวกัน  เราต้องสร้างสาวกขึ้นให้เค้าเป็นอย่างที่พระเจ้าต้องการ ให้เค้าเป็นไปตามแบบพระคัมภีร์ เราเป็นผู้เลี้ยง เป็นผู้นำ เราจะต้องสื่อสาร สำแดงสิ่งที่พระเจ้าต้องการสื่อสารให้กับประชากรของพระเจ้า
3. สนับสนุนสิ่งดีที่เขาทำ (คส.4:17)
อ.เปาโลบอกให้กับพี่น้องที่โคโลสีว่าให้ไปบอกอารคิปปัสว่างานรับใช้ของท่านนั้นจงกระทำให้สำเร็จ อ.เปาโลได้สนับสนุนทีมงานของท่านในการรับใช้ไม่ว่าสิ่งใดที่ท่านสามารถทำได้ท่านยินดีที่จะทำ ไม่ว่าจะเขียนจดหมายไปหนุนใจ ส่งคนไปช่วย หรืออะไรก็ตามที่จะทำได้ นี่คือหัวใจของคนที่รักพระเจ้า ถ้าเรารักพระจ้าเหมือน อ.เปาโล เราจะสนับสนุนผู้รับใช้ ผู้นำ ศิษยาภิบาล หัวหน้าแคร์ หัวหน้าหน่วย กระทำการต่างๆ ให้สำเร็จ  ทุกคนต่างก็ต้องการการสนับสนุน ต้องการกำลังใจ ต้องการความช่วยเหลือด้วยกันทั้งสิ้น ผู้นำก็ต้องเอาใจใส่ดูแลสมาชิกอย่างเต็มที่เต็มกำลัง อ.เปาโลได้เตือนว่าให้ผู้นำระวังที่จะรักษาฝูงแกะที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ประทานให้ (กจ.20:28) เมื่อผู้นำได้รับการสนับสนุนการงานของพระเจ้าก็สำเร็จเป็นอย่างดี (อพย.17:12) เราต้องให้การสนับสนุนผู้นำของเรา อย่าทำให้ผู้นำต้องลำบากใจในการนำชีวิตของเรา หรือสอนเราให้เราตอบสนองและเชื่อฟัง
4. อธิษฐานเผื่อผู้นำ (คส.4:18)
อ.เปาโลบอกว่าขอท่านระลึกถึงโซ่ตรวน หมายถึงความยากลำบากที่ อ.เปาโลได้รับนั้นไม่ได้หมายความว่า อ.เปาโลกำลังเรียกร้องให้สงสาร หรือเห็นใจท่าน หรือต้องการขอความเห็นใจ แต่ อ.เปาโล ต้องการให้พี่น้องอธิษฐานเผื่อ เพื่อให้ข่าวประเสริฐของพระเจ้าขยายออกไป  อ.เปาโลขอให้พี่น้องที่เธสะโลนิกาอธิษฐานเผื่อท่าน (2ธส.3:1)  เราต้องอธิษฐานเผื่อกันและกันอยู่เสมอ เพื่อจะได้รับการปกป้องจากพระเจ้าให้พ้นจากการทำลายของมารซาตาน อ.เปาโลให้ระลึกถึงคนต่างๆ ที่ถูกจำจองอยู่เพราะข่าวประเสริฐ (ฮบ.13:3) เพื่อเราจะได้อธิษฐานเผื่อคนเหล่านั้นได้อย่างมีภาระใจ  (2คร.11:23-29) เราไม่ควรบ่นต่อว่าพระเจ้า แต่เราควรอธิษฐานขอบคุณพระเจ้าไม่ว่าเรื่องใดที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะดีหรือไม่ก็ตาม   (สามารถดูเพิ่มเติมได้ที่ www.churchofpeace2010.org)

ขอพระเจ้าอวยพรครับ

14 มิถุนายน 2554

ชีวิตที่เป็นแบบอย่าง

สรุปคำเทศนาวันอาทิตย์ที่ 12 มิถุนายน 2011

พระธรรม โคโลสี 4:7-14
            พระธรรมตอนนี้เป็นตอนท้ายๆ ของพระธรรมโคโลสี ที่ อ.เปาโลกำลังจะจบจดหมายฝากที่มีไปถึงพี่น้องที่โคโลสี ซึ่งตอนท้ายของจดหมายฝากนี้ เป็นคำกำชับของ อ.เปาโล และได้ฝากให้พี่น้องที่โคโลสีรับรองและดูแลเอาใจใส่คนที่ถือจดหมายฝากฉบับนี้มาด้วย นั่นคือ ทีคิกัส และโอเนสิมัส ซึ่งทั้งสองคนนั้นเป็นคนที่มีแบบอย่างชีวิตที่ดีได้ร่วมกับปรนนิบัติรับใช้กับ อ.เปาโลมาตลอด ในจดหมายฝากยังได้กล่าวถึงอีกหลายคนที่มีลักษณะชีวิตที่โดดเด่น เช่น อาริทารคัสและเอปาฟรัส ซึ่งพี่น้องที่โคโลสีและรวมทั้งเราทุกคนสามารถที่จะเอาเป็นแบบอย่างชีวิตได้ จากคนต่างๆ ที่ อ.เปาโลกล่าวถึงทั้ง 4 คน เราเห็นแบบอย่างชีวิตได้  4 แบบ คือ

            1. ชีวิตที่สัตย์ซื่อและไว้ใจได้ (คส.4:7)
            ทีคิกัส เป็นผู้ที่มีแบบอย่างชีวิตที่ดีจน อ.เปาโล ยกมาเป็นตัวอย่างเพื่อสอนให้กับพี่น้องที่โคโลสีและเราทุกคน ทีคิกัสเป็นอย่างไรถึงได้เรียกว่ามีแบบอย่างชีวิตที่ดี เราเห็นได้จากที่ อ.เปาโล กล่าวว่า ทีคิกัส เป็นผู้ที่เอาใจใส่ปรนนิบัติและเป็นเพื่อนร่วมงานกับเรา ไม่ว่าอ.เปาโลจะตกอยู่ในสถานการณ์ใดทีคิกัสก็ยังมีความสัตย์ซื่อในการปรนนิบัติรับใช้พระเจ้าอยู่เสมอ  อ.เปาโล ได้ตั้งให้ทีคิกัสเป็นตัวแทนไปทำหน้าที่ต่างๆ เช่น เป็นตัวแทนของคริสตจักรในการนำเงินบริจาคไปช่วยพี่น้องที่ยากจนที่คริสตจักรเยรูซาเล็ม (กจ.20:4, 21:29)   อ.เปาโล ได้ให้ทีคิกัสไปหาติตัสที่เกาะครีตและไปช่วยติตัสที่นั่น (ทต.3:12) อีกครั้งหนึ่งไปช่วยทิโมธีที่เอเฟซัส (2ทธ.4:12)  เราต้องเป็นคนที่สัตย์ซื่อไว้ใจได้ เพื่อพระเจ้าจะได้ใช้เราได้มากขึ้น คุณลักษณะที่สำคัญเช่นนี้คือเป็นคนที่สัตย์ซื่อไว้ใจได้ (2ทธ.2:2) ควรเป็นคนสมบัติของผู้เชื่อทุกคนร่วมทั้งพี่น้องในคริสตจักรนี้ด้วย คนสัตย์ซื่อไว้ใจได้อยู่ที่ไหนพระพรของพระเจ้าก็จะมาถึงที่นั่น  (ปฐก.39:4-5)  ยิ่งสัตยัซื่อมาก ยิ่งได้รับการอวยพรมาก (มธ.24:45-47, 25:23) ถ้าเราไม่สัตย์ซื่อในทรัพย์สมบัติอธรรมแล้วใครจะมอบทรัพย์สมบัติอันแท้ให้แก่เราเล่า (ลก.16:11-12) นี่คือแบบอย่างแรกคือ ความสัตย์ซื่อและไว้ใจได้

            2. ชีวิตที่ผ่านการพิสูจน์แล้ว (คส.4:9)
            ข้อนี้กล่าวถึงโอเนสิมัส ซึ่งเคยเป็นทาสอยู่ในบ้านของฟิเลโมนซึ่งเป็นคนที่รู้จักกับ อ.เปาโลเป็นอย่างดี แต่ได้ทำตัวไม่ดีและได้หนีออกมาจากบ้าน เมื่อโอเนสิมัสได้พอกับ อ.เปาโล ที่กรุงโรมและกลับใจใหม่เป็นคริสเตียนและร่วมรับใช้กับ อ.เปาโลตั้งแต่นั้นมา  อ.เปาโลจึงได้ส่งโอเนสิมัสกลับมาหาฟิเลโมน โดยขอให้ฟิเลโมนรับเขาไว้ แต่ไม่ใช่รับแบบเป็นทาสอีกต่อไป แต่เป็นพี่น้องในพระคริสต์ (ฟม.16)  โอเนสิมัสที่ได้กลับใจใหม่แล้วและได้ผ่านการพิสูจน์แล้ว อ.เปาโล กล่าวถึงโอเนสิมว่าเป็นลูกของ อ.เปาโล (ฟม.10) เป็นดั่งดวงใจของ อ.เปาโล (ฟม.12) มิหน่ำซ้ำ อ.เปาโลยังบอกว่าถ้าโอเนสิมัสทำผิดสิ่งใดหรือว่าเป็นหนี้ประการใดให้ไปเอากับ อ.เปาโล (ฟม.16-18) การกลับใจใหม่ต้องพิสูจน์หรือดูได้จากผลของการกระทำที่เกิดขึ้น (มธ.3:8) อ.เปาโล ก็เคยพิสูจน์ให้คนยิวเห็นแล้วว่าพระเยซูทรงเป็นพระคริสต์ (กจ.9:22)  ไม่ว่าเราจะเป็นผู้ใหญ่หรือเด็กเราต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าเราเปลี่ยนแปลงใหม่แล้ว เหมือน อ.เปาโลหนุนใจทิโมธี (1ทธ.4:12) 

            3. ชีวิตที่หนุนใจ (คส.4:10-11)
            อาริสทารคัส เป็นอีกคนหนึ่งที่โดดเด่นในเรื่องการมีชีวิตที่หนุนใจ เป็นคนที่คอยให้กำลังใจหรือปลอบใจอ.เปาโล อยู่เสมอ เป็นคนที่ถูกจับพร้อมกันกับ อ.เปาโลที่เมืองเอเฟซัส คอยติดตามปรนนิบัติ อ.เปาโลอยู่เสมอ  คำพูดต่างๆ ของอาริสทารคัส เป็นคำพูดที่ให้กำลังใจ หนุนใจ ให้ความหวังอยู่เสมอ เป็นคำพูดที่คนฟังแล้วมีกำลังใจขึ้น ฟังแล้วมีความหวังใจมากขึ้น เป็นคำพูดที่ช่วยให้สามารถที่จะลุกขึ้นสู้ต่อไปได้อีก ดังนั้นเมื่อเรามาเชื่อพระเจ้าแล้วเราได้รับการเปลี่ยนใหม่แล้ว เราเป็นคนใหม่แล้ว เราควรที่จะให้คำพูดของเราเป็นคำพูดที่ทำให้คนมีกำลังใจ มีความหวัง สามารถที่จะลุกขึ้นต่อสู้ได้อีก ไม่ควรให้คำพูดของเรากลายเป็นเครื่องมือของมารซาตานที่ใช้เพื่อประหารคนอื่น เราเห็นบารนาบัส มีชีวิตเป็นหนุนใจคนอื่นอยู่เสมอ แม้กระทั่งชื่อของบารนาบัส ยังแปลว่า ลูกแห่งการหนุนน้ำใจ (กจ.4:36) ทุกคนต้องการการปลอบใจ ต้องการกำลังใจ ต้องการคนเห็นใจ ต้องการคำพูดที่หนุนใจ ดังนั้นเราควรที่จะให้กำลังใจกัน หนุนใจกันอยู่เสมอ

            4. ชีวิตที่ทุ่มเทเสียสละ (คส.4:12-14)
            เอปาฟรัส เป็นอีกคนหนึ่งที่มีชีวิตที่เป็นแบบอย่าง คือ เป็นคนที่ทุ่มเทเสียสละอย่างมาก เค้าเป็นคนที่บากบั่นทุ่มเท เอาจริงเอาจัง เพราะว่ามีความห่วงใยพี่น้อง โดยเฉพาะพี่น้องที่โคโลสี เขาเฝ้าอธิษฐานเผื่อพี่น้องที่ต้องการจะเห็นคนเหล่านั้นเติบโตขึ้นในทางของพระเจ้า อ.เปาโล ได้ยื่นยันว่า เอปาฟรัสทุ่มเททำงานหนักจริงๆ  อ.เปาโล เป็นแบบอย่างในการทุ่มเทเสียสละอย่างมากในการรับใช้พระเจ้า ได้ทุ่มเทเวลาให้กับงานของพระเจ้าอย่างไม่หยุดหย่อน (กจ.20:31) พระเยซูก็เป็นแบบอย่างในการทุ่มเทเสียสละเช่นกัน ถ้าเราสำรวจพระกิตติคุณทั้ง 4 เล่ม เราจะพบเพียงไม่กี่ครั้งว่าพระเยซูพักผ่อน เพราะว่าวิญญาณของคนเกียจคร้านก็ยังขัดสน ส่วนวิญญาณของคนขยันก็จะอ้วนพี (สภษ.13:4) เราต้องปฏิวัติตัวเองให้กลายเป็นคนขยัน ถ้าเราไม่อยากเป็นคนขดสน หรือยากจน  เราต้องเป็นแบบอย่างชีวิตที่ดีจนเราสามารถพูดเหมือน อ.เปาโลได้ว่า ท่านทั้งหลายจงปฏิบัติตามอย่างข้าพเจ้า เหมือนอย่างที่ข้าพเจ้าปฏิบัติตามอย่างพระคริสต์ (1คร.11:1) 

                      ให้เราเลียนแบบอย่างที่ดีจากตัวอย่างดีๆ ในพระคัมภีร์ซึ่งมีมากมาย และให้เราดำเนินชีวิตให้สมกับที่พระเจ้าเรียกเรา พระพรของพระเจ้าจะหลั่งไหลมาเมื่อเราสัตย์ซื่อไว้ใจได้ เราผ่านการพิสูจน์แล้ว ชีวิตของเราเป็นที่หนุนใจผู้อื่น และเราได้ทุ่มเทเสียสละอย่างเต็มที่แล้ว (สามารถดูเพิ่มเติมได้ที่ www.churchofpeace2010.org)

ขอพระเจ้าอวยพรครับ

10 มิถุนายน 2554

บทบาทในสังคม

สรุปคำเทศนาวันอาทิตย์ที่ 5 มิถุนายน 2011

พระธรรม โคโลสี 4:2-6
            พระวจนะของพระเจ้าสอนเราอย่างสมดุลย์อยู่เสมอ ไม่ว่าเราจะอยู่ในสถานะใดหรืออยู่ที่ใดพระเจ้าก็จะสอนให้เราดำเนินชีวิตอย่างสมดุลย์ สอนให้เรารู้จักบทบาทของตัวเราไม่ว่าเราจะอยู่ในสถานะใดก็ตาม เมื่อเราทำตามบทบาทที่พระเจ้าสอน เราก็จะถวายเกียรติแด่พระเจ้า พระวจนะได้สอนเราถึงบทบาทในครอบครัวมาแล้ว และสอนให้เราเห็นถึงบทบาทในที่ทำงานมาแล้ว เท่านั้นยังไม่พอพระเจ้ายังสอนให้เรารู้จักบทบาทในสังคมอีกด้วย เพราะพระเจ้ารู้ว่าเราไม่ได้อยู่เฉพาะในบ้านและที่ทำงานเท่านั้น เรายังต้องอยู่ในสังคมร่วมกับคนอื่นอีกด้วย อย่างไรก็ตามไม่ว่าที่บ้านหรือว่าที่ทำงานต่างก็ถือว่าเป็นสังคมย่อยสังคมหนึ่งด้วย ดังนั้นให้เรามาดูด้วยกันว่าบทบาทของคริสเตียนเราในสังคมจะต้องทำอย่างไรบ้าง
            1. อธิษฐานเผื่อสังคมและชุมชน (คส.4:2)
            พระคัมภีร์บอกว่า “จงขะมักเขม้นอธิษฐาน” บทบาทแรกของเราคือการอธิษฐาน คริสเตียนมีหน้าที่ต้องอธิษฐานเผื่อสังคมและชุมชนที่เราอยู่ ไม่ว่าที่นั่นจะเป็นที่ไหน ไม่ว่าจะเป็นที่บ้านหรือว่าที่ทำงาน หรือว่าในชุมชนที่เราอาศัยอยู่ รวมทั้งอธิษฐานเผื่อคริสตจักรที่เราผูกพันตัวด้วย นี่เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องอธิษฐานขอพรจากพระเจ้าให้เทลงมาในสังคมนั้น คำว่าอธ้ษฐานอย่างขะมักเขม้น หมายถึงการอธิษฐานอย่างต่อเนื่อ  คริสตจักรสมัยแรกได้ขะมักเขม้นในการอธิษฐานอย่างมาก (กจ.1:14. รม.12:12) ทำไมถึงต้องขะมักเขม้นในการอธิษฐาน ก็เพราะว่า เรากำลังอยู่ในสงครามฝ่ายวิญญาณ  นางฮันนาอธิษฐานต่อพระเจ้าด้วยใจร้อนรนอย่างไม่หยุดยั้งเนื่องด้วยนางเป็นทุกข์เพราะไม่มีบุตร (1ซมอ.1:10)  พระคัมภีร์ยังใช้คำว่า “เฝ้าระวัง” ซึ่งหมายถึง ตื่นตัวอยู่เสมอ  ไม่ใช่เพียงแต่อธิษฐานขออย่างเดียว แต่ต้องขอบพระคุณด้วย เป็นการขอบคุณล่วงหน้า ไม่ต้องรอให้ได้รับคำตอบก่อน
            2. อธิษฐานเผื่อผู้นำและงานรับใช้ (คส.4:3-4)
            บทบาทของคริสเตียนไม่เพียงอธิษฐานเผื่อสังคมและชุมชนเท่านั้น อ.เปาโลยังได้บอกต่อไปว่า ให้อธิษฐานเผื่อเราด้วย เพื่อให้พระเจ้าเปิดประตูไว้สำหรับข่าวประเสริฐ  ดังนั้นเราต้องอธิษฐานเผื่อผู้นำและงานรับใช้ของผู้นำมากๆ เพื่อให้พระเจ้าปกป้องและเปิดประตูให้ข่าวประเสริฐถูกประกาศออกไป อ.เปาโลวิงวอนให้พี่น้องอธิษฐานเผื่อท่านอย่างมากๆ (รม.15:30, อฟ.6:19) เราต้องอธิษฐานเผื่อพี่เลี้ยง หัวหน้าแคร์ หัวหน้าหน่วย ผู้นำทุกระดับ รวมทั้งอธิษฐานเผื่อกันและกันด้วย  ผู้นำเป็นของประทานที่มาจากพระเจ้าสำหรับผู้เชื่อทุกคน
            3. สำแดงชีวิตที่เป็นแบบอย่าง (คส.4:5-6)
            คริสเตียนคือคนที่พระเจ้าเข้ามาเปลี่ยนแปลงใหม่แล้ว ดังนั้นการดำเนินชีวิตต้องไม่เหมือนเดิม คนสามารถเห็นการเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจนมากขึ้นทุกวัน คริสเตียนชีวิตต่อสังคมอย่างไรบ้าง
            3.1 โดยใช้สติปัญญา (คส.4:5)
            แม้เรามาเชื่อในพระเจ้าแล้วเรายังต้องอยู่ในสังคมต่อไป เราไม่ได้แยกตัวออกไปอยู่ในป่า หรือไปตั้งชุมชนขึ้นมาใหม่ ดังนั้นเมื่อเราอยู่ในสังคมที่เต็มไปด้วยความบาป ความอิจฉาริษยา การเอารัดเอาเปรียบ พระคัมภีร์บอกว่า พระเจ้าให้เราเข้าไปอยู่ท่ามกลางหมาป่า (มธ.10:16) เราต้องฉลาด เราก็ต้องดำเนินชีวิตโดยการใช้สติปัญญาที่มาจากพระเจ้า พระเจ้าเตือนเราให้ดำเนินชีวิตอย่างคนมีปัญญา (อฟ.5:15) เพราะว่าในโลกนี้เต็มไปด้วยกลอุบายและการล่อลวงของมารซาตาน เพื่อเราจะได้มีชัยชนะในทุกสถานะการณ์ เมื่อเราดำเนินชีวิตโดยสติปัญญาเราก็จะปลอดภัย (ยก.3:13, 17) คนที่อยู่ในทางพระเจ้าก็จะมีปัญญาและใจอ่อนสุภาพ
            3.2 โดยการฉวยโอกาส (คส.4:5)
            คำว่า “ฉวยโอกาส” ในภาษาเดิมแปลว่า “ไถ่เวลาคืนมา”  เราเห็นคำอุปมาเรื่องแผ่นดินสวรรค์เปรียบเสมือนไข่มุกหรือขุมทรัพย์ใครที่ค้นพบก็จะซ่อนเอาไว้แล้วกลับไปขายสิ่งสารพัดที่ตนมีอยู่แล้วเอามาซื้อขุมทรัพย์นั้น (มธ.13:44-46) ทำไมเราต้องฉวยโอกาส ก็เพราะว่าในสถานการณ์เช่นนี้เป็นสถานการณ์ที่ไม่ดี เป็นกาลที่ชั่ว เราต้องรีบพาคนออกจากอำนาจมืดของมาซาตาน (อฟ.5:16) เปโตรเป็นนักฉวยโอกาสคนหนึ่ง (กจ.2:14, 41)
            3.3 โดยคำพูดที่เหมาะสม (คส.4:6)
            การสำแดงชีวิตอีกประการหนึ่งคือการใช้คำพูดที่เหมาะสมกับแต่ละคนและเต็มไปด้วยความเมตตา สะท้อนความดีที่อยู่ภายในออกมาเป็นคำพูด คำพูดของเราต้องเป็นคำแห่งการหนุนน้ำใจ ให้กำลังใจ พูดแง่บวก สุภาพอ่อนโยน เป็นคำพูดที่ก่อให้เกิดความหวังใจ เกิดกำลังใจ ทำให้คนมีชีวิต พระคัมภีร์บอกว่า “เป็นคำพูดที่ปรุงด้วยเกลือ” คำพูดของเราต้องประกอบไปด้วยพระคุณและเมตตา (ลก.4:22) เราต้องเลิกโกหกและหันมาพูดความจริงต่อกัน (อฟ.4:25) เพราะว่าคำพูดโกหกไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์อันใดทั้งในระยะสั้นและระยะยาว การพูดความจริงต่อกันจะช่วยเสริมสร้างมากกว่า และทำให้เกิดผลดีทั้งผู้พูดและผู้ฟัง
            ดังนั้นเราต้องทำบทบาทของเราอย่างถูกต้องและดีที่สุด ถ้าเราอยากเห็นสังคมและชุมชนที่เราอยู่มีความสงบสุข มีความเจริญเราต้องอธิษฐานเผื่อสังคมของเรา เราต้องอธิษฐานเผื่อผู้นำของเราทั้งงานรับใช้ที่ผู้นำทำอยู่ รวมทั้งผู้มีสิทธิอำนาจทั้งหลายด้วย และสำแดงชีวิตที่เหมาะสม (สามารถดูเพิ่มเติมได้ที่ www.churchofpeace2010.org)

ขอพระเจ้าอวยพรครับ

03 มิถุนายน 2554

บทบาทในที่ทำงาน

สรุปคำเทศนาวันอาทิตย์ที่ 29 พฤษภาคม 2011

พระธรรม โคโลสี 3:22-4:1
            พระธรรมตอนนี้เป็นคำแนะนำของอ.เปาโลที่ต่อเนื่องมาจากครั้งที่แล้วที่เป็นเรื่องบบทบาทของผู้เชื่อในบ้าน ครั้งนี้เป็นเรื่องบทบาทในที่ทำงาน ไม่ว่าเราจะอยู่ที่บ้านหรือที่ทำงานเราต่างก็มีบทบาทที่จะต้องทำเพื่อถวายเกียรติแด่พระเจ้าทั้งสิ้น ไม่ว่าเราจะอยู่ในสถานะไหนในที่บ้านหรือว่าที่ทำงาน เราต่างก็ต้องทำบทบาทของตัวเองให้ดีที่สุด และถูกต้องตามหลักการของพระคัมภีร์ และในที่สุดพระพรก็จะมาถึงชีวิตของเราอย่างไม่ต้องสงสัย ดังนั้นเราจะดูบทบาทของเราดังต่อไปนี้
            1. บทบาทของลูกจ้างต่อนายจ้าง (คส.3:22-23)
            พระธรรมตอนนี้พูดถึงบทบาทของลูกจ้างว่าต้องทำอย่างไรถึงจะเป็นที่ถวายเกียรติแด่พระเจ้า พระคัมภีร์ได้บอกว่า “ฝ่ายพวกทาส จงเชื่อฟังผู้เป็นนายของตน...” นั่นแสดงว่า พระเจ้าต้องการให้ลูกจ้าง หรือผู้ใต้บังคับบัญชา “เชื่อฟัง” ผู้ที่เป็นเจ้านาย หรือหัวหน้า เพราะว่าการเชื่อฟังจะนำมาซึ่งพระพร และความสำเร็จก็จะตามมา การเชื่อฟัง ในเรื่องนี้เป็นคำสั่ง อ.เปาโลสั่งให้เราเชื่อฟัง การเชื่อฟังเป็นสิ่งสะท้อนความเป็นผู้ใหญ่ฝ่ายวิญญาณ เราต่างก็เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในพระคริสต์ (กท.3:28) เราต้องยอมอยู่ใต้บังคับของผู้มีอำนาจ เพราะพระเจ้าทรงอยู่เบื้องหลัง (รม.13:1-2) ลูกจ้างต้องเชื่อฟังนายจ้างอย่างไร ถึงจะถูกต้อง จากพระธรรม 2 ข้อนี้เราได้เห็นท่าทีการเชื่อฟัง 2 ประการ
            1.1 เชื่อฟังทุกอย่าง (คส.3:22)
            พระคัมภีร์บอกให้เราเชื่อฟังตามเนื้อหนังทุกอย่าง ไม่ใช่เชื่อฟังเฉพาะผู้นำฝ่ายวิญญาณเท่านั้น แต่ต้องเชื่อฟังผู้บังคับบัญชาฝ่ายเนื้อหนังด้วย การเชื่อฟังที่ถูกต้อง ต้องเชื่อฟังทุกอย่างที่ถูกต้องตามกฎเกณฑ์และกฎหมาย ตามกฎศีลธรรมอันดีงาม ถ้านายจ้างสั่งสิ่งที่ถูกต้องก็ให้เชื่อฟังอย่าได้เถียงเลย (ทต.2:9)  พระเจ้าสอนให้เราเชื่อฟังสิ่งที่ไม่ขัดกับหลักการพระคัมภีร์ (อฟ.6:5-6) เราต้องทำเหมือนกับทำให้พระเจ้าไม่ใช่ทำให้กับมนุษย์ 
            1.2 ยำเกรงและต็มใจ (คส.3:23)
            ความยำเกรงคือการมีพระเจ้าเป็นศูนย์กลางในชีวิต ทุกอย่างที่เราทำมีพระเจ้าเป็นแรงจูงใจสูงสุด คือเพื่อถวายเกียรติแด่พระเจ้า ทำทุกสิ่งเหมือนทำให้กับพระเจ้า ทำทุกอย่างโดยนึกถึงพระเจ้าก่อนเสมอ การเชื่อฟังนายจ้างต้องมีความเต็มใจและด้วยความยำเกรงพระเจ้า เราต้องทำหน้าที่ของเราอย่างดีเลิศ ถ้าเจ้านายของเราเป็นคริสเตียนเราต้องยิ่งให้ความเคารพให้มากด้วย (1ทธ.6:2) เราต้องมีท่าทีที่ถูกต้องต่อหัวหน้างานของเรา 
            2. บทบาทของนายจ้าต่อลูกจ้าง (คส.4:1)
            เราทราบดีแล้วว่าพระเจ้าของเราเป็นพระเจ้าที่มีความสมดุลย์ พระเจ้าสอนให้เราสมดุลย์ในทุกๆ ด้าน ถ้าเราเป็นผู้ปกครองก็ต้องปกครองอย่างเที่ยงธรรม ให้ความเท่าเทียมกัน เสมอภาคกันในการดูแลผู้ใต้บังคับบัญชา หรือคนที่อยู่ภายใต้การดูแลของเรา เพราะว่าเราก็มีเจ้านายที่อยู่ในสวรรค์คอยดูเราอยู่เช่นกัน (อฟ.6:9) ถึงแม้นายจ้างหรือว่าพ่อแม่จะไม่สามารถทำตามพระคัมภีร์ได้ทุกอย่าง ลูกจ้างหรือว่าลูกๆ ก็ไม่มีสิทธิ์ไม่เชื่อฟัง ถ้าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง 
            3. ผลที่เกิดขึ้น (คส.3:24-25)
            3.1 ได้รับบำเหน็จ (คส.3:24)
            เมื่อเราทำสิ่งที่ถูกต้องไม่ว่าเราจะอยู่ในสถานะไหนเราก็จะได้รับบำเหน็จรางวัลจากพระเจ้าทั้งสิ้น บำเหน็จรางวัลที่พระเจ้าได้จัดเตรียมไว้ให้กับเรา เป็นบำเหน็จรางวัลที่จะหาสิ่งใดมาเทียบไม่ได้เลย  ถ้าเราทำด้วยท่าทีถูกต้องเราก็ไม่ต้องกลัวการพิสูจน์ (1คร.3:13-15) พระเจ้าผู้ทรงสถิตย์ในสวรรค์จะเป็นผู้พิสูจน์เราเอง (มธ.6:1) จงมีความหวังและมีความชื่นชมยินดี เพราะว่าบำเหน็จของเราจะมีบริบูรณ์ในสวรรค์ (มธ.5:12) เราต้องรักษาท่าทีของเราเอาไว้ให้ดี
            3.2 ไม่ถูกลงโทษ (คส.3:25)
            เมื่อเราทำสิ่งที่ถูกต้องและมีท่าทีที่ถูกต้องในการดำเนินชีวิตของเรา ไม่ว่าเราจะเป็นลูกจ้างหรือว่านายจ้าง เราได้ทำบทบาทของเราอย่างถูกต้อง พระพรจะเป็นของเรา เราไม่ต้องถูกลงโทษ การถูกลงโทษเป็นของคนที่ทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง พระเจ้าจะไม่ปล่อยเอาไว้แน่  เราต้องรายงานตัวต่อพระเจ้าในวันสุดท้ายทุกคน (2คร.5:10) วันนั้นทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำจะปรากฎให้เห็น ไม่ว่าเราทำด้วยท่าทีอย่างไร พระเจ้าจะพิพากษาเราตามการกระทำของเรา

            ดังนั้นเราจะต้องมีแรงจูงใจที่ถูกต้องในการดำเนินชีวิต ไม่ว่าเราจะอยู่ที่บ้านหรือว่าที่ทำงาน ไม่ว่าเราจะอยู่ในสถานะไหน ไม่ว่าเราจะเป็นพ่อแม่ หรือว่าเป็นลูก ไม่ว่าเราเป็นเจ้านายหรือลูกน้อง เราต้องทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด เพราะว่าพระเจ้าผู้เป็นเจ้านายสูงสุด เป็นผู้ประทานสิทธิอำนาจนั้น และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังผู้มีสิทธิอำนาจนั้น ถ้าเราเชื่อฟังและทำตามด้วยใจยำเกรงและเต็มใจ พระพรก็จะเป็นของเรา เราไม่ต้องถูกลงโทษ (สามารถดูเพิ่มเติมได้ที่ www.churchofpeace2010.org)
ขอพระเจ้าอวยพรครับ