26 มกราคม 2556

ระวังเชื้อร้ายของฟาริสีและสะดูสี


สรุปคำเทศนาวันอาทิตย์ที่ 20 มกราคม 2013

พระธรรม มัทธิว 16:1-12

หลังจากที่พระเยซูได้ทดสอบความเชื่อของหญิงคานาอันแล้วและพระองค์ได้เห็นความเชื่อของนางที่มีอย่างมากจึงได้รักษาลูกสาวของนางที่ผีเข้าสิงอยู่ให้หาย แล้วพระองค์กับเหล่าสาวกก็เดินทางทำพันธกิจของพระองค์ต่อไป ขณะนั้นกลุ่มฟาริสีและสะดูสีเข้ามาตั้งคำถามเพื่อทดสอบพระเยซูว่า ถ้าเป็นพระบุตรพระเจ้า ก็จงแสดงการอิทธิฤทธิ์ หรือหมายสำคัญจากฟ้าให้ดูสิ ฟาริสีและสะดูสี คือ คือ กลุ่มนักการศาสนาที่เคร่งครัดในกฎระเบียบที่บรรพบุรุษถ่ายทอดเป็นกลุ่มคนที่อุทิศตัวอย่างจริงจังให้กับลัทธิยูดาห์ของยิว ยึดถือบัญญัติของโมเสสและได้เพิ่มเติมบัญญัติต่างๆ ขึ้นตามกาลเวลา สะดูสี เป็นกลุ่มผู้เคร่งในศาสนากลุ่มนี้เป็นคนที่มีสถานะทางสังคมชั้นสูงของยิว มีความเชื่อต่างกับฟาริสีในเรื่องการเป็นขึ้นจากความตาย คือ สะดูสีจะไม่เชื่อเรื่องชีวิตหลังความตาย กลุ่มคนเหล่านี้มาเพื่อทดสอบพระเยซู  เหตุการณ์นี้เกิดหลังจากพระเยซูทำการอัศจรรย์เลี้ยงคนสี่พัน ด้วยขนมปัง 7 ก้อน แถมยังเหลือขนมปังอีกถึง 7 ตะกร้า แต่สาวกลืมหยิบขนมปังทั้ง 7 ตะกร้าที่เหลือนั้นมา เมื่อพระเยซูบอกให้ระวังเชื้อแห่งพวกฟาริสีและพวกสะดูสีให้ดี สาวกกลับตีความว่าพระเยซูเตือนว่าอย่าลืมขนมปังที่เหลือมา เขากระวนกระวายใจมาก แต่พระเยซูมิได้หมายถึงเรื่องขนมปัง แต่พระองค์เตือนเรื่องเชื้อแห่งฟาริสีและสะดูสี เชื้อแห่งฟาริสีและสะดูสีที่พระเยซูเตือนให้ระวังนั้นหมายถึงอะไร จากพระธรรมตอนนี้ ผมจะชี้ให้เห็น 2 ประการ ที่เราก็ต้องระวัง

1. ระวังท่าทีที่ผิด (ข้อ 1-11)

เชื้ออันแรกที่พระเยซูเตือนให้เราระวังอย่ารับเอามา คือ “ท่าทีในใจที่ผิด” ฟาริสีและสะดูสีมีแรงจูงใจที่ต้องการทดสอบพระเยซู เขามิได้แสวงหาความจริง แต่ต้องการจับผิดว่าพระเยซูไม่มีฤทธิ์อำนาจที่เพียงพอในการทำอัศจรรย์ ฟาริสีและสะดูสีมีท่าทีในใจที่ผิดอย่างไร? หลายตอนในพระคัมภีร์บอกว่าพวกเขา หยิ่งยะโส ยกตนเหนือผู้อื่น แสวงหาเกียรติและการยกย่องจากมนุษย์ในหน้าที่ทางศาสนาของตน หน้าซื่อใจคด แสร้งทำในสิ่งที่ตนไม่ได้เป็น ทำความดีแต่เปลือกนอก ยกประเพณีที่สืบทอด เป็นใหญ่เหนือพระวจนะ สนใจตัวอักษรของข้อศีลธรรม มากกว่าจะสนใจแก่นหัวใจของศีลธรรม อื่นๆ อีกมา ท่าทีกำหนดทัศนคติมุมมองของเรา  ดังนั้นหากท่าทีไม่ดี ทุกอย่างที่ออกมาก็ไม่ดีด้วย น่าแปลกที่ฟาริสีและสะดูสีเป็นนักการศาสนาที่ใกล้ชิดกับหนังสือธรรมบัญญัติ แต่เขากลับปฏิเสธพระเยซูผู้เป็นพระบุตรของพระเจ้าที่พบอยู่ตรงหน้า เพราะท่าทีที่ผิดในใจของเขา ดังนั้น เราจึงต้องระวังท่าทีของตัวเรา อย่าคิดว่าเราใกล้ชิดพระเจ้าและไม่มีทางที่จะมีท่าทีที่ผิดได้ เรามีท่าทีแรงจูงใจอย่างไร ก็ตีความสิ่งที่พบเห็น ไปตามท่าทีในใจเราอย่างนั้น  (มธ.16:5-8) พระเยซูพูดให้ระวังเชื้อของฟาริสีและสะดูสี แต่สาวกกลับกังวลใจที่ตนลืมเอาขนมปังมา จึงตีความสิ่งที่พระเยซูพูดว่าพระเยซูทวงถามถึงขนมปังที่พวกตนลืมไว้ ความจริงจะไม่ได้กำหนดท่าทีของเรา แต่ท่าทีของเราจะเป็นตัวกำหนดการตีความของความจริงแทน ดังนั้นเมื่อให้คำปรึกษาปัญหา ไม่เพียงแต่เราจะแก้เนื้อหาของปัญหา แต่ต้องแก้ท่าทีที่ซ่อนอยู่หลังเนื้อหาด้วย ท่าทีแรงจูงใจที่ผิด เป็นเหมือนเชื้อโรคติดต่อด้วยเช่นกัน ดังนั้นอย่าอยู่ใกล้คนที่มีท่าทีไม่ดี เพราะท่าทีที่ไม่ดีนั้นเป็นโรคติดต่อชนิดหนึ่ง จงรักษาท่าทีแรงจูงใจของเราให้ถูกต้องเสมอ (ยรม.17:9) จิตใจก็เป็นตัวล่อลวง พระเจ้าสนใจท่าทีในใจของเรา (ยรม.17:10)

2. ระวังคำสอนที่ผิด (ข้อ 12)

ไม่เพียงแค่ให้ระวังเชื้อของท่าทีผิด  แต่พระเยซูยังเตือนให้ระวังเชื้อของคำสอนผิดด้วย มีคนมากมายที่อยู่ในคำสอนผิดจากพระคัมภีร์ ทั้งที่เขาจริงใจและบริสุทธิ์ใจ  ดังนั้นแค่จริงใจไม่พอ เราต้องมีวิจารณญาณและยึดคำสอนที่ถูกต้องด้วย พระเยซูเตือนให้ระวังคำสอนผิดของพวกฟาริสี ที่ปฏิเสธความเป็นพระเจ้าของพระเยซู นำบัญญัติของมนุษย์หรือคำสอนที่สืบทอดมาอ้างว่าเป็นพระบัญญัติของพระเจ้า มุ่งเน้นความชอบธรรมด้วยการประพฤติ จนเหล่าอัครทูตต้องเตือนผู้เชื่อให้ระวังมิจฉาลัทธิ (2ปต.2:1) แต่ว่าได้มีคนที่ปลอมตัวเป็นผู้เผยพระวจนะ บ้างก็อ้างพระคุณพระเจ้าจนตกขอบ (ยด.ข้อ4) บ้างก็นำผู้เชื่อให้กลับเข้าสู่บทบัญญัติของมนุษย์ (กท.2:4) เราอยู่ในยุคเต็มไปด้วยคำสอนแปลกๆ ที่แพร่หลายอย่างมากเพราะ คนใช้เหตุผลได้เก่งขึ้น คนเรามีความปรารถนาในฝ่ายเนื้อหนังของตน คนในสมัยใหม่ชอบสิ่งที่แหวกแนว แสวงหาอำนาจและผลประโยชน์เพื่อกลุ่มบุคคล เป็นความจริงคริสเตียนควรมีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับพระเยซู โดยไม่ขึ้นกับมนุษย์คนใด แต่ก็ใช่ว่าควรจะปฏิเสธวิธีการสร้างชีวิตผ่านชุมชน หรือคำสอนที่ถูกตั้งชื่อว่า “ข่าวประเสริฐแห่งความสบายใจ” ไม่พูดว่า พระเยซูเป็นทางเดียวที่ช่วยให้รอด เพราะคนทั่วไปจะไม่พอใจ โดยยกคำสอนของพระคัมภีร์ (1คร.9:22) อันตรายจากคำสอนผิด คำสอนผิดจะค่อยๆ แทรกซึมเข้าไปในจิตวิญญาณเราอย่างไม่รู้ตัวและยากที่จะตรวจสอบได้ (กท.5:9) เราต้องระวังคำสอนผิดด้วยการ อ่านและศึกษาพระคัมภีร์เป็นประจำ ยึดคำสอนที่อยู่ในพระคัมภีร์เป็นหลัก (มธ.24:35) อย่าสร้างหลักคำสอนขึ้นจากพระคัมภีร์เพียงข้อเดียวหรือไม่กี่ข้อ

สรุป ให้เราระวังตัวเองจากเชื้อทั้ง 2 นี้ คือ ท่าทีที่ผิด และ คำสอนผิด เชื้อทั้ง 2 นี้ติดต่อได้ และลามเข้าสู่ความคิด จนควบคุมทั้งชีวิต

 

ขอพระเจ้าอวยพรครับ

 

18 มกราคม 2556

ความสำเร็จแบบพระเจ้า


สรุปคำเทศนาวันอาทิตย์ที่ 6 มกราคม 2013

พระธรรม ยนห์น 21:6

ความสำเร็จเป็นความปรารถานาของทุกคน แต่ความสำเร็จที่เราได้รับนั้นเป็นแบบไหน เป็นความสำเร็จที่ทำให้เรามีความสุข หรือว่าเป็นความสำเร็จที่ทำให้เราเกิดความทุกข์ เป็นความสำเร็จที่ยั่งยืนถาวรหรือว่าเป็นความสำเร็จที่ชั่วครั้งชั่วคราว เป็นความสำเร็จที่ได้มาจากการทำลายคนอื่นหรือไม่ หลายคนถูกมองว่าเป็นคนที่ประสบความสำเร็จแต่เจ้าตัวบอกว่ายังไม่ประสบความสำเร็จ แล้วอะไรเป็นตัวกำหนดว่าความสำเร็จคืออะไร คนมากมายทุ่มเทเวลา แรงกาย ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตให้กับบางสิ่งบางอย่างที่คิดว่าจะทำให้ตนเองประสบความสำเร็จ ซึ่งก็ได้ผลลัพธ์ดังที่ตั้งใจไว้ ในฐานะที่เราเป็นคริสเตียนเราจะทำให้ชีวิตของเราประสบความสำเร็จ เราจะทำอย่างไร พระคัมภีร์ได้ให้หลักการแห่งความสำเร็จเอาไว้มากมายหลายตอน แต่สำหรับพระธรรมยอห์น ได้ให้หลักการที่สำคัญไว้ 2 ประการคือ

1. การเชื่อฟัง (ยน.21:6)
สาวกของพระเยซูเชื่อฟังสิ่งที่พระองค์ตรัสบอกกับพวกเขา เขาก็หย่อนอวนลงทางด้านขวาเรือตามที่พระองค์ทรงตรัส เป็นที่น่าแปลกใจอย่างมาก เพราะการที่อดีตชาวประมงอย่างพวกสาวกของพระองค์หย่อนอวนลงไปนั้นมันขัดกับหลักการจับปลาของชาวประมงอย่างพวกเขา เพราะชาวประมงรู้ดีว่าปลาตัวใหญ่จะอยู่ที่ไหน และจะออกหากินในเวลาไหน เพราะว่าพวกเขาทำอาชีพนี้มาตลอดชีวิตของพวกเขาและบรรพบุรุษของพวกเขา พระเยซูเรียกเปโตรกับน้องชายที่กาลิลี (มธ.4:18-20) ต่อมาก็เรียกยากอบกับยอห์นในที่ใกล้ๆ กัน (มธ.4:21-22) คนเหล่านี้รู้ดีว่าปลาใหญ่จะอยู่ที่น้ำลึกและออกหากินในเวลากลางคืน แต่พระเยซูให้พวกเขาหย่อนอวนลงขณะที่พวกเขาเข้ามาใกล้จะถึงฝั่งแล้ว แม้บางฉบับอาจจะให้ถอยเรือออกไปหน่อยหนึ่ง (ลก.5:4) เมื่อเขาหย่อนอวนลงและเอาขึ้นปรากฎว่าได้ปลาเป็นจำนวนมากอวนแทบปริ (ลก.5:6-7) การเชื่อฟังพระเจ้าแม้อาจจะดูเหมือนขัดกับความรู้สึก ขัดกับธรรมชาติ แต่ถ้าพระเจ้าบอกให้ทำอะไรแล้วเราเชื่อฟังสิ่งนั้นก็จะสำเร็จได้ พระเจ้าต้องการให้เรามีวิญญาณแห่งการเชื่อฟัง พระเจ้าบอกให้เราเชื่อฟังพระเยซู (มธ.17:5) พระเยซูเป็นแบบอย่างแห่งการเชื่อฟัง (ยน.4:34) ยอมเชื่อฟังจนกระทั่งที่กางเขนก็ยังเชื่อฟังอยู่ (ฟป.2:8) พระคัมภีร์สอนให้เราเชื่อฟังพ่อแม่ตามหลักการพระคัมภีร์ (อฟ.6:1) พระเจ้าสัญญาว่าถ้าเราเชื่อฟังพระองค์พระพรมากมายจะมายังชีวิตของเรา (ฉธบ.28:1-12) การเชื่อฟังเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จตามแบบของพระเจ้า และสิ่งที่สำคัญที่สุดไม่ใช่การมีสิ่งต่างๆ ในโลกมากมายแต่การมีชีวิตนิรันดร์สำคัญที่สุด เพราะถ้าเราได้สิ่งของหมดโลกแต่ต้องตกนรกมีประโยนช์อะไร (มธ.16:26) นี่คือความสำเร็จแบบพระเจ้า คือ การเชื่อฟัง

2. การทำตาม (ยน.21:6)
เมื่อพระเยซูบอกให้เขาหย่อนอวนลงทางด้านขวาเรือ พวกเขาก็ทำตามที่พระองค์ทรงบอกนั้นทุกประการ ไม่ว่าให้ทำอะไรพวกเขาทำตามหมด บางคนอาจจะบอกว่าไม่เสียหาอะไรที่จะลองทำตามเพราะทำมาทั้งคืนแล้วก็ไม่ได้อะไร แต่ถ้าเรามองให้ดีเราจะพบว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะลงอวนและเก็บอวน และไม่ใช่ทำคนเดียวได้จะต้องช่วยกัน แต่พวกสาวก็ทำตามที่พระองค์ทรงตรัสนั้น การเชื่อฟังถ้าไม่มีการประพฤติตามนั้นก็ไร้ผล (ยก.2:26) ความสำเร็จแบบพระเจ้าจะเกิดขึ้นได้ไม่เพียงเพราะการเชื่อฟังเท่านั้น แต่ต้องมีการทำตามความเชื่อนั้นด้วย หากไม่ทำตามก็หาความสำเร็จไม่ได้ บางครั้งอาจเกิดผลเสียมากมายตามมาก็ได้ (ลก.6:49) พระเจ้าให้เราทำแล้วเราจะได้รับ (มธ.7:7-8) พระเยซูทำตามพระทัยของพระบิดาและการงานที่ทำก็สำเร็จ (ยน.4:34) ทำตามน้ำพระทัยของพระเจ้าดีที่สุด เพราะจะนำความสำเร็จมาสู่ชีวิตของเรา เมื่อพระเจ้าเรียกให้เราทำสิ่งใดให้เราเชื่อฟังและทำตามที่พระเจ้าเรียก ทำตามที่พระองค์ทรงบอกให้เราทำ เราเห็นเหตุการณ์เกิดอัศจรรย์ครั้งแรกของพระเยซูที่งานเลี้ยงแต่งงานที่หมู่บ้านคานา พระองค์ทรงเปลี่ยนน้ำเปล่าให้เป็นน้ำเหล้าองุ่นรสชาดดีได้เพราะ สาวใช้เชื่อฟังและทำตามที่พระองค์ทรงบอก (ยน.2:5) ดังนั้นการทำตามน้ำพระทัยของพระเจ้าก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ต้องอาศัยเวลา อาศัยความอดทน ถ้าเราต้องการที่จะเห็นความสำเร็จเกิดขึ้น เราจะต้องมีความอดทน (ฮบ.10:36) แล้วความสำเร็จที่งดงามก็จะเกิดขึ้นผ่านชีวิตของเรา เราจะเกิดความชื่นชมยินดี เราจะมีความสุข ให้เราเชื่อฟังพระเจ้า สัตย์ซื่อต่อพระองค์ ทำตามที่พระเจ้าเรียกหรือบอกให้เราทำ ความสำเร็จแบบพระเจ้าจะเป็นของเรา

ขอพระเจ้าอวยพรครับ

ยอมรับกันและกัน


สรุปคำเทศนาในวันอาทิตย์ที่  13  มกราคม  2013

พระธรรม มาระโก 9:33-37

โดยอาจารย์สุรชาติ คงจาย

            พระเยซูสอนเรื่อง “การยอมรับกันและกัน” ผ่านตัวอย่าง “การยอมรับเด็กเล็กๆ” ในพระธรรมมาระโก 9:33-37   ในเหตุการณ์วันนั้น พอพระเยซูกับเหล่าสาวกเดินทางมาถึงเมืองคาเปอรนาอุม และเข้าไปในเรือน คำถาม? ของพระองค์ถึงกับทำให้สาวกอึ้ง! และพูดไม่ออก ทั้งๆที่พระองค์ทราบว่า พวกเขาโต้แย้งกันเรื่องอะไรในระหว่างเดินทางมาถึงเมืองคาเปอรนาอุม ที่พระองค์ถาม...ไม่ใช่พระองค์ไม่รู้ พระองค์รู้และทราบทุกอย่าง แต่ทำไมพวกสาวกไม่สามารถตอบคำถามง่ายๆ ที่พระองค์ถามได้? ทั้งๆที่พระองค์พร่ำสอนพวกเขามาโดยตลอด แต่พวกเขาไม่เข้าใจ และเกรงใจที่จะถาม จึงทำให้พวกเขามีความคิดแบบเดิมๆของตนเอง และเข้าใจผิดและยึดติดความคิดที่ไม่ถูกต้องได้ พระเยซูจึงเรียกสาวกสิบสองคนมาสอนโดยให้เด็กคนหนึ่งมายืนอยู่ตรงกลางวงสนทนา ในข้อ 37 “ถ้าผู้ใดจะรับเด็กเล็กๆเช่นนี้คนหนึ่งในนามของเราผู้นั้นก็รับเรา”  นี่เป็นประโยคเด็ดของพระเยซูซึ่งเป็นหัวใจหลักในการที่จะทำให้พวกเขาควรยอมรับกันและกัน โดยไม่ต้องมาคิดว่าใครใหญ่กว่าใคร ที่แม้แต่เด็กตัวเล็กๆ ถ้าผู้ใดยอมรับยังมีค่าเท่ากับการยอมรับตัวของพระคริสต์เอง นี่คือคำแนะนำของพระเยซูให้หลักคิดว่าเราจะยอมรับกันและกันได้อย่างไร?

1. ไม่เปรียบเทียบกัน (ข้อ 34)
เหล่าสาวกได้เถียงกันว่า..คนไหนจะใหญ่กว่ากัน นี่คือ การเปรียบเทียบโดยวัดระดับว่าใครใหญ่กว่ากัน    การเปรียบเทียบคือ การเทียบเคียงว่า สิ่งใดเหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร ถ้าต่างกัน มีอะไรดีกว่าอะไร สิ่งใดดีกว่าสิ่งใด หรือใครดีกว่าใคร ดังนั้นการเปรียบเทียบเป็นกระบวนการนำไปสู่การเลือกตัดสินใจว่าจะยอมรับหรือไม่ยอมรับ เลือกที่จะเก็บรักษาหรือโยนทิ้ง จึงอาจนำไปสู่การไม่ยอมรับได้ที่สุด ดังนั้น หากต้องการให้เกิดการยอมรับกันและกันขึ้นในความสัมพันธ์ใดๆก็ตาม จึงต้องระมัดระวังที่จะเปรียบเทียบ พระเยซูเตือนไว้ในเรื่อง ”ผงในตา” กับ ”ไม้ทั้งท่อน” (มธ.7:3-5) และเปาโลได้เตือนผู้เชื่อที่เมืองโครินธ์เรื่องการเปรียบเทียบกันว่าการเอาตัวเองเป็นเครื่องวัดกันเท่ากับเป็นคนขาดความเข้าใจ ( 2คร.10:12) ถ้าอยากมองให้แม่นยำ ไม่ผิดพลาด เราจึงต้องมองผ่านแว่นตาของพระเจ้าซึ่งไม่เหมือนมองผ่านแว่นตาของมนุษย์ (1ซมอ.16:7) ซึ่งเป็นมาตรฐานของพระวจนะพระเจ้าปลอดภัยที่สุด หากจะเปรียบเทียบ ต้องรู้ว่าเราเป็นใครในพระเจ้า ซึ่งแต่ละคนกำลังวิ่งอยู่ในลู่ที่พระเจ้ากำหนดให้ (ฮบ.12:1) ขณะที่วิ่งอยู่ในลู่ของตน ก็คอยให้กำลังใจคนข้างๆ ได้ แต่ไม่ควรเปรียบเทียบว่าใครวิ่งด้วยแรงที่ดีกว่ากัน ใครไปเร็ว ใครไปช้า

2. การถ่อมใจ (ข้อ 35)
พระเยซูกล่าวว่า “อยากเป็นใหญ่ อยากเป็นคนแถวหน้าหรือ? ให้เป็นคนสุดท้ายและและปรนนิบัติรับใช้คนทั้งปวง ซึ่งเป็นคำตรัสที่ทำให้สาวกฟังแล้วงงงวย ดูเหมือนไม่เป็นเหตุเป็นผล หากอยากเป็นคนต้นก็ต้องเป็นบุคคลแถวหน้าไม่ใช่หรือ แต่ทำไมพระเยซูบอกว่า..อยากเป็นคนต้นให้เป็นคนสุดท้าย พระเจ้ามองไม่เหมือนมนุษย์มอง เช่นตัวอย่าง ดาวิด (1 ซมอ.16:1-12 ) ซามูเอลมองเห็นพี่ชาย น่าจะเป็นกษัตริย์แทนกษัตริย์ซาอูล แต่พระเจ้าบอกว่าไม่ใช่ ยังมีอีกคนที่กำลังเลี้ยงแกะในทุ่งนาก็คือดาวิด หลักเหตุผลของพระเยซูคือ อยากเป็นคนต้นให้เป็นคนท้ายและเป็นคนปรนนิบัติรับใช้คนทั้งปวง นั่นคือ การมีความถ่อมใจ ความถ่อมใจจึงทำให้เรายินดีปรนนิบัติรับใช้ ไม่เลือกปฏิบัติ การได้รับการยอมรับ ไม่ได้มาจาก การพยายามยกตนเองขึ้น เพื่อทำให้คนยอมรับ แต่มาจาก การถ่อมใจและพระเจ้าเป็นผู้ยกขึ้น (มธ.23:12)  นี่คือ กฎของสวรรค์ ผู้ใดยกตัวขึ้น จะถูกเหยียดลง และผู้ใดถ่อมตัวลง จะได้รับการยกขึ้น    

3. การยอมรับกันในนามของพระคริสต์ (ข้อ 36 – 37)
พระเยซูกำลังบอกสิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญของการยอมรับกันและกันนั้นต้องเกิดจากการยอมรับกันในนามของพระองค์ สาเหตุที่พระเยซูเปรียบเทียบการยอมรับกันและกัน กับการยอมรับเด็กเล็กๆ ซึ่งสาวกไม่ให้ความสำคัญ และพยายามกีดกันเด็กที่จะเข้ามาหาพระองค์ (มธ.19:13)  สิ่งใดที่เราได้กระทำแก่คนใดคนหนึ่งในพวกพี่น้องของเรานี้ ถึงแม้จะต่ำต้อยเพียงไร ก็เหมือนได้กระทำแก่พระเยซูด้วย นี่คือความจริงที่พระวจนะในตอนนี้ ได้เปิดเผยให้เราเรียนรู้ และเมื่อรู้เช่นนี้แล้ว ให้เราเปิดใจยอมรับทุกคนโดยไม่เปรียบเทียบกัน  มีความถ่อมใจ (ถือว่าผู้อื่นดีกว่าตน) และยอมรับทุกคนในนามของพระคริสต์