24 พฤษภาคม 2554

3 ผู้นำกับการทุ่มเทเสียสละ

คุณสมบัติแห่งการเป็นผู้นำ
ตอนที่ 3

“คนจะไม่ตามผู้นำที่ปราศจากความมุ่งมั่นทุ่มเท" คุณจะเห็นถึงความมุ่งมั่นทุ่มเทในทุกเรื่องราว ไม่ว่าจะเป็นจำนวนชั่วโมงที่คุณทำงานอย่างตั้งใจ ความพยายามในการเพิ่มขีดความสามารถของตนเอง หรือแม้แต่สิ่งที่คุณทำเพื่อเพื่อนร่วมงานของคุณ ด้วยการยอมสละความสุขส่วนตัว  (สตีเวน เกร็ก) 
ความทุ่มเทหมายถึงอะไร? สำหรับแต่ละคนก็มีความหมายแตกต่างกันออกไป
สำหรับนักมวย หมายถึง การลุกขึ้นมายืนหยัดอีกหนทุกครั้งที่ถูกต่อยล้มลง
            สำหรับนักวิ่งมาราธอน หมายถึง การวิ่งต่อไปอีก 10 ไมล์ แม้คุณจะหมดแรงแล้วก็ตาม
            สำหรับทหาร หมายถึง การบุกยึดเนินยุทธศาสตร์ โดยไม่รู้ว่าอะไรรออยู่อีกฟากหนึ่ง
            สำหรับมิชชั่นนารี หมายถึง การบอกลาความสะดวกสบาย เพื่อช่วยให้ชีวิตผู้อื่นดีขึ้น
            สำหรับผู้นำ หมายถึง ทั้งหมดที่กล่าวมาและยิ่งไปกว่านั้นอีก เพราะทุกคนที่คุณนำได้ฝากความหวังไว้กับคุณ

            หาคุณอยากเป็นผู้นำที่มีประสิทธิผล คุณจะต้องมีความทุ่มเท ทั้งนี้เพราะความทุ่มเทที่แท้จริงนั้นก่อให้เกิดแรงบันดาลใจและดึงดูดผู้คนมาหาคุณ อีกทั้งยังเป็นสิ่งที่แสดงให้พวกเขาเห็นด้วยว่าคุณมีหลักการที่คุณยึดมั่น พวกเขาจะเชื่อมั่นในตัวคุณก็ต่อเมื่อคุณชื่อมั่นในอุดมการณ์ของคุณ ดังที่ กฎแห่งความเชื่อมั่นศรัทธา กล่าวว่า “ผู้คนจะเชื่อมั่นในตัวผู้นำก่อน แล้วจึงจะเชื่อมั่นในวิสัยทัศน์ของผู้นำ”
            ความทุ่มเทที่แท้จริงนั้นเป็นอย่างไร? จงพิจารณาข้อสังเกต 3 ประการต่อไปนี้

1. ความทุ่มเทเริ่มต้นที่ใจ
บางคนต้องการให้ทุกสิ่งทุกอย่างเรียบร้อยสมบูรณ์เสียก่อนแล้วจึงจะมีใจทุ่มเทให้กับสิ่งใดๆ แต่ทว่าความทุ่มเทนั้นต้องมาก่อนความสำเร็จเสมอ มีคนบอกว่า ในเคนตักกี้ดาร์บี้ซึ่งเป็นการแข่งม้าอันยิ่งใหญ่ประจำปี ม้าตัวที่ชนะนั้นหมดออกซิเจนหายใจตั้งแต่ครึ่งไมล์แรกแล้ว และที่วิ่งต่อไปได้ก็ด้วยแรงใจเท่านั้น นี้เป็นเหตุผล ที่บรรดานักกีฬาที่ยิ่งใหญ่ต่างก็ยอมรับถึงความสำคัญของใจ ไมเคิล จอร์แดน นักบาสเก็ตบอล เจ้าตำนานแห่ง NBA อธิบายว่า “ใจคือสิ่งที่แยกแยะผลงานที่ยิ่งใหญ่ออกจากผลงานที่ดี” หากคุณในฐานะผู้นำต้องการสร้างสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้นในชีวิตผู้อื่นจงมองลึกเข้าไปในใจคุณว่ามีความทุ่มเทอย่างแท้จริงหรือไม่
เช่นเดียวกับพระวจนะให้ความสำคัญกับทัศนคติ หรือท่าทีภายใน ความทุ่มเทในการรับใช้ที่แสดงออกมา ย่อมเป็นภาพสะท้อนมาจากจิตใจภายในที่ร้อนรนอยากเห็นงานของพระเจ้าสำเร็จ (สุภาษิต 4:23 ...ชีวิตเริ่มต้นออกมาจากใจ)

2. ความทุ่มเททดสอบได้ด้วยการกระทำ
การที่จะพูดถึงความทุ่มเทก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่การลงมือกระทำจริงๆ นั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง สิ่งเดียวที่สามารถวัดความทุ่มเทได้ อย่างแท้จริงก็คือ การกระทำ อาร์เธอร์ กอร์ดอน ยอมรับว่า “ไม่มีอะไรง่ายเท่ากับการพูด แต่ก็ไม่มีอะไรยากเท่ากับการที่จะทำให้ได้ตามที่พูดไว้ วันแล้ววันเล่า” คุณหละเป็นอย่างไรในเรื่องของการลงมือทำอย่างจริงจังให้สำเร็จลุล่วงตามที่ได้บอกคนอื่นไว้?
อาจารย์เปาโลเป็นแบบอย่างในทุ่มเท ท่านสามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่าท่านทำงานหนัก (1โครินธ์ 15:10 แต่ว่าข้าพเจ้าเป็นอยู่อย่างที่เป็นอยู่นี้ ก็เนื่องด้วยพระคุณของพระเจ้าและพระคุณของพระองค์ซึ่งได้ทรงประทานแก่ข้าพเจ้านั้น มิได้ไร้ประโยชน์ ตรงกันข้ามข้าพเจ้ากลับทำงานมากกว่าพวกเขาเสียอีก มิใช่ตัวข้าพเจ้าเองทำ พระคุณของพระเจ้าซึ่งดำรงอยู่กับข้าพเจ้าต่างหากที่ทำ)

3. ความทุ่มเทคือประตูไปสู่ความสำเร็จ
ในฐานะผู้นำจะต้องเผชิญอุปสรรคและการขัดขวางนานับประการ หากคุณยังไม่เคยประสบ และจะมีหลายต่อหลายครั้งที่มีเพียงความมุ่งมั่นทุ่มเทเท่านั้นที่จะผลักดันให้คุณมุ่งหน้าต่อไปได้ ดังที่ เดวิด แม็คแนลลี่ กล่าวไว้ว่า “ความมุ่งมั่นทุ่มเทจะช่วยให้คุณเอาชนะอุปสรรคที่ขวางกั้น เพราะเป็นเหมือนคำมั่นสัญญาที่คุณได้ให้ไว้อย่างเป็นมั่นเป็นเหมาะว่า คุณจะยังคงพยายามต่อไปโดยไม่ลดละ และจะยังคงลุกขึ้นมาใหม่ทุกครั้งที่ถูกซัดล้มลง”
เช่นเดียวกับความเชื่อคริสเตียนต้องมีความเพียรพยายามจึงจะไปถึงเป้าหมายได้ (ฮีบรู 12:1 ... ก็ขอให้เราละทิ้งทุกอย่างที่ถ่วงอยู่และบาปที่เกาะแน่น ขอให้เราวิ่งแข่งด้วยความเพียรพยายาม ...)

การนำไปปฏิบัติ : ในการพัฒนาความทุ่มเท จงทำสิ่งต่อไปนี้
วัดความทุ่มเท : ลองใช้เวลาสัก 2-3 ชั่วโมง ใคร่ครวญว่าคุณได้ใช้เวลาและเงินทองไปอย่างไรบ้าง คุณใช้เวลามากน้อยแค่ไหนกับการทำงาน การทำประโยชน์ การให้เวลาครอบครัว การร่วมกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพหรือสันทนาการ และอื่นๆ ลองคำนวณคร่าวๆ ดูว่าคุณใช้เงินทองไปมากน้อยแค่ไหนกับเรื่องอาหารการกิน การบันเทิง การพัฒนาตัวเอง รวมทั้งการบริจาค ทั้งหมดนี้จะเป็นเครื่องชี้วัดได้อย่างแท้จริงถึงระดับแห่งความทุ่มเทของคุณ คุณอาจแปลกใจก็ได้กับสิ่งที่ค้นพบ
รู้ว่าอะไรมีคุณค่าพอที่จะยอมอุทิศชีวิตให้ : คำถามหนึ่งที่ผู้นำทุกคนต้องถามตนเองก็คือ “อะไรคือสิ่งที่ฉันจะยอมอุทิศชีวิตให้ได้?” หากต้องเลือกมีสิ่งใดในชีวิตที่คุณจะยังคงทำอย่างต่อเนื่อง แม้จะเกิดผลเช่นไรก็ตาม? จงหาเวลาสงบตามลำพังเพื่อใคร่ครวญสิ่งเหล่านี้ บันทึกสิ่งที่ค้นพบ จากนั้นจงพิจารณาว่าการกระทำของคุณสอดคล้องกับอุดคติของคุณหรือไม่
ใช้วิธีการของเอดิสัน : ถ้าคุณมีปัญหาในการเริ่มต้นที่จะมุ่งมั่นทุ่มเทกับสิ่งใดก็ตาม ก็ลองทำแบบเดียวกับ โธมัส เอดิสัน คือเมื่อเขามีความคิดในการประดิษฐ์อะไรสักอย่าง เขาจะเชิญสื่อมวลชนมาเพื่อแถลงให้ทราบ จากนั้นเขาจะเข้าไปในห้องทดลองและประดิษฐ์สิ่งนั้นขึ้นมา การแจ้งผลงานของคุณให้สาธารณะชนรับรู้นั้น อาจทำให้คุณเองมีความทุ่มเทมากขึ้นและมุ่งมั่นจนสำเร็จได้

คำถามเพื่ออภิปราย : คุณเป็นคนที่ทุ่มเทหรือไม่ เพราะเหตุใด?

ข้อพระคัมภีร์สำหรับท่องจำ : ฮีบรู 12:1 เหตุฉะนั้น เมื่อเรามีพยานพรั่งพร้อมอยู่รอบข้างเช่นนี้แล้ว ก็ขอให้เราละทิ้งทุกอย่างที่ถ่วงอยู่ และบาปที่เกาะแน่น ขอให้เราวิ่งแข่งด้วยความเพียรพยายาม ตามที่ได้กำหนดไว้สำหรับเรา


ที่มา: ปรับปรุงจาก John C. Maxwell, 21 คุณสมบัติหลักแห่งการเป็นผู้นำ.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น