18 มกราคม 2556

ยอมรับกันและกัน


สรุปคำเทศนาในวันอาทิตย์ที่  13  มกราคม  2013

พระธรรม มาระโก 9:33-37

โดยอาจารย์สุรชาติ คงจาย

            พระเยซูสอนเรื่อง “การยอมรับกันและกัน” ผ่านตัวอย่าง “การยอมรับเด็กเล็กๆ” ในพระธรรมมาระโก 9:33-37   ในเหตุการณ์วันนั้น พอพระเยซูกับเหล่าสาวกเดินทางมาถึงเมืองคาเปอรนาอุม และเข้าไปในเรือน คำถาม? ของพระองค์ถึงกับทำให้สาวกอึ้ง! และพูดไม่ออก ทั้งๆที่พระองค์ทราบว่า พวกเขาโต้แย้งกันเรื่องอะไรในระหว่างเดินทางมาถึงเมืองคาเปอรนาอุม ที่พระองค์ถาม...ไม่ใช่พระองค์ไม่รู้ พระองค์รู้และทราบทุกอย่าง แต่ทำไมพวกสาวกไม่สามารถตอบคำถามง่ายๆ ที่พระองค์ถามได้? ทั้งๆที่พระองค์พร่ำสอนพวกเขามาโดยตลอด แต่พวกเขาไม่เข้าใจ และเกรงใจที่จะถาม จึงทำให้พวกเขามีความคิดแบบเดิมๆของตนเอง และเข้าใจผิดและยึดติดความคิดที่ไม่ถูกต้องได้ พระเยซูจึงเรียกสาวกสิบสองคนมาสอนโดยให้เด็กคนหนึ่งมายืนอยู่ตรงกลางวงสนทนา ในข้อ 37 “ถ้าผู้ใดจะรับเด็กเล็กๆเช่นนี้คนหนึ่งในนามของเราผู้นั้นก็รับเรา”  นี่เป็นประโยคเด็ดของพระเยซูซึ่งเป็นหัวใจหลักในการที่จะทำให้พวกเขาควรยอมรับกันและกัน โดยไม่ต้องมาคิดว่าใครใหญ่กว่าใคร ที่แม้แต่เด็กตัวเล็กๆ ถ้าผู้ใดยอมรับยังมีค่าเท่ากับการยอมรับตัวของพระคริสต์เอง นี่คือคำแนะนำของพระเยซูให้หลักคิดว่าเราจะยอมรับกันและกันได้อย่างไร?

1. ไม่เปรียบเทียบกัน (ข้อ 34)
เหล่าสาวกได้เถียงกันว่า..คนไหนจะใหญ่กว่ากัน นี่คือ การเปรียบเทียบโดยวัดระดับว่าใครใหญ่กว่ากัน    การเปรียบเทียบคือ การเทียบเคียงว่า สิ่งใดเหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร ถ้าต่างกัน มีอะไรดีกว่าอะไร สิ่งใดดีกว่าสิ่งใด หรือใครดีกว่าใคร ดังนั้นการเปรียบเทียบเป็นกระบวนการนำไปสู่การเลือกตัดสินใจว่าจะยอมรับหรือไม่ยอมรับ เลือกที่จะเก็บรักษาหรือโยนทิ้ง จึงอาจนำไปสู่การไม่ยอมรับได้ที่สุด ดังนั้น หากต้องการให้เกิดการยอมรับกันและกันขึ้นในความสัมพันธ์ใดๆก็ตาม จึงต้องระมัดระวังที่จะเปรียบเทียบ พระเยซูเตือนไว้ในเรื่อง ”ผงในตา” กับ ”ไม้ทั้งท่อน” (มธ.7:3-5) และเปาโลได้เตือนผู้เชื่อที่เมืองโครินธ์เรื่องการเปรียบเทียบกันว่าการเอาตัวเองเป็นเครื่องวัดกันเท่ากับเป็นคนขาดความเข้าใจ ( 2คร.10:12) ถ้าอยากมองให้แม่นยำ ไม่ผิดพลาด เราจึงต้องมองผ่านแว่นตาของพระเจ้าซึ่งไม่เหมือนมองผ่านแว่นตาของมนุษย์ (1ซมอ.16:7) ซึ่งเป็นมาตรฐานของพระวจนะพระเจ้าปลอดภัยที่สุด หากจะเปรียบเทียบ ต้องรู้ว่าเราเป็นใครในพระเจ้า ซึ่งแต่ละคนกำลังวิ่งอยู่ในลู่ที่พระเจ้ากำหนดให้ (ฮบ.12:1) ขณะที่วิ่งอยู่ในลู่ของตน ก็คอยให้กำลังใจคนข้างๆ ได้ แต่ไม่ควรเปรียบเทียบว่าใครวิ่งด้วยแรงที่ดีกว่ากัน ใครไปเร็ว ใครไปช้า

2. การถ่อมใจ (ข้อ 35)
พระเยซูกล่าวว่า “อยากเป็นใหญ่ อยากเป็นคนแถวหน้าหรือ? ให้เป็นคนสุดท้ายและและปรนนิบัติรับใช้คนทั้งปวง ซึ่งเป็นคำตรัสที่ทำให้สาวกฟังแล้วงงงวย ดูเหมือนไม่เป็นเหตุเป็นผล หากอยากเป็นคนต้นก็ต้องเป็นบุคคลแถวหน้าไม่ใช่หรือ แต่ทำไมพระเยซูบอกว่า..อยากเป็นคนต้นให้เป็นคนสุดท้าย พระเจ้ามองไม่เหมือนมนุษย์มอง เช่นตัวอย่าง ดาวิด (1 ซมอ.16:1-12 ) ซามูเอลมองเห็นพี่ชาย น่าจะเป็นกษัตริย์แทนกษัตริย์ซาอูล แต่พระเจ้าบอกว่าไม่ใช่ ยังมีอีกคนที่กำลังเลี้ยงแกะในทุ่งนาก็คือดาวิด หลักเหตุผลของพระเยซูคือ อยากเป็นคนต้นให้เป็นคนท้ายและเป็นคนปรนนิบัติรับใช้คนทั้งปวง นั่นคือ การมีความถ่อมใจ ความถ่อมใจจึงทำให้เรายินดีปรนนิบัติรับใช้ ไม่เลือกปฏิบัติ การได้รับการยอมรับ ไม่ได้มาจาก การพยายามยกตนเองขึ้น เพื่อทำให้คนยอมรับ แต่มาจาก การถ่อมใจและพระเจ้าเป็นผู้ยกขึ้น (มธ.23:12)  นี่คือ กฎของสวรรค์ ผู้ใดยกตัวขึ้น จะถูกเหยียดลง และผู้ใดถ่อมตัวลง จะได้รับการยกขึ้น    

3. การยอมรับกันในนามของพระคริสต์ (ข้อ 36 – 37)
พระเยซูกำลังบอกสิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญของการยอมรับกันและกันนั้นต้องเกิดจากการยอมรับกันในนามของพระองค์ สาเหตุที่พระเยซูเปรียบเทียบการยอมรับกันและกัน กับการยอมรับเด็กเล็กๆ ซึ่งสาวกไม่ให้ความสำคัญ และพยายามกีดกันเด็กที่จะเข้ามาหาพระองค์ (มธ.19:13)  สิ่งใดที่เราได้กระทำแก่คนใดคนหนึ่งในพวกพี่น้องของเรานี้ ถึงแม้จะต่ำต้อยเพียงไร ก็เหมือนได้กระทำแก่พระเยซูด้วย นี่คือความจริงที่พระวจนะในตอนนี้ ได้เปิดเผยให้เราเรียนรู้ และเมื่อรู้เช่นนี้แล้ว ให้เราเปิดใจยอมรับทุกคนโดยไม่เปรียบเทียบกัน  มีความถ่อมใจ (ถือว่าผู้อื่นดีกว่าตน) และยอมรับทุกคนในนามของพระคริสต์ 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น