25 มีนาคม 2554

เป้าหมายของชีวิตใหม่


สรุปคำเทศนาวันอาทิตย์ที่ 20 มีนาคม 2011

พระธรรม โคโลสี 3:1-4

อ.เปาโลได้บอกว่าเมื่อเรามาเชื่อพระเจ้าแล้วเราได้รับชีวิตใหม่ในพระเจ้า คือได้รับการชุบให้เป็นขึ้นมาจากความตาย เราไม่ได้เป็นทาสของบาปอีกต่อไป ชีวิตเราได้รับการเปลี่ยนแปลงใหม่แล้วในทางนิตินัย ส่วนทางพฤตินัยเรากำลังค่อยๆเปลี่ยนไปสู่ความไพบูลย์ของพระเจ้า ดังนั้นเป้าหมายของเราจึงเปลี่ยนใหม่ เป้าหมายของเราจึงแตกต่างไปจากเดิม เมื่อก่อนเราอาจจะมีเป้าหมายเพื่อตัวเองในโลกนี้ แต่เดี๋ยวนี้เรามีเป้าหมายใหม่แล้ว เป้าหมายของชีวิตใหม่เราเป็นอย่างไร เราจะมาดูด้วยกัน
1. สิ่งที่อยู่เบื้องบน (คส.3:1-2)
เป้าหมายของชีวิตใหม่ของเราเมื่อเรามาเชื่อพระเจ้า คือ สิ่งที่อยู่เบื้องบน อ.เปาโลบอกว่า จงแสวงหาสิ่งที่อยู่เบื้องบนในที่ซึ่งพระคริสต์ทรงสถิตอยู่ สิ่งที่อยู่เบื้องบนนั้นจะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจากพระเยซูคริสต์พระเจ้าของเรานั่นเอง แม้ว่าเราจะอยู่ในโลกนี้แต่เป้าหมายของเราไม่ได้อยู่ที่โลกนี้ โลกนี้เป็นบ้านชั่วคราวของเรา บ้านถาวรของเราอยู่ที่สวรรค์ และเราจะกลับไปอยู่ที่บ้านถาวรของเรา เราจะกลับไปอยู่กับพระเจ้า เราจะกลับไปอยู่ที่บ้านถาวรของเราได้เราต้องมีท่าทีที่ถูกต้อง 2 ประการ
1.1 แสวงหา (คส.3:1)
พระคัมภีร์เน้นย้ำว่า “จงแสวงหา” ดังนั้นท่าทีของเราที่มีต่อสิ่งที่อยู่เบื้องบน คือเราต้องแสวงหา คำว่า “จงแสวงหา” คำนี้เป็นคำเดียวกันกับคำว่า “จงแสวงหาแผ่นดินและความชอบธรรมของพระเจ้าก่อน” (มธ.6:33) ซึ่งหมายถึงการตัดสินใจ  ดาวิดผู้ได้ชื่อว่าเป็นสหายของพระเจ้ายังได้บอกกับพระเจ้าว่า “ขอทรงโน้มใจ” เข้ามาหาพระโอวาท (สดด.119:36) และขอทรงหันนัยน์ตาของท่านไปจากสิ่งอนิจจัง (สดด.119:37) คนที่ขอก็จะได้ คนที่แสวงหาก็จะพบ (มธ.7:7) เราต้องมีเป้าหมายใหม่และเราต้องขวนขวายหาสิ่งที่อยู่เบื้องบน บ้านถาวรของเราอยู่ที่สวรรค์ (ฟป.3:20)  (ฮบ.13:14) เราต้องเตรียมทุกอย่างสำหรับบ้านที่อยู่ในสวรรค์ของเรา โดยการทำตามน้ำพระทัยของพระเจ้า (ยน.4:34)  (ฟป.3:14)  เราต้องตัดสินใจแสวงหา
1.2 จดจ่อ (คส.3:2)
คำว่า “เอาใจใส่” เป็นลักษณะของความคิดที่อยู่ภายใน ซึ่งหมายถึงความคิดจิตใจของเราต้องอยู่ที่พระเจ้า  (รม.8:6) ดังนั้นค่านิยม ความคิด จิตใจของเราต้องพุ่งตรงไปที่พระเจ้า ให้เราทำลายความคิดที่มีเหตุผลจอมปลอมไปเสียจากชีวิตของเรา (2คร.10:5) เมื่อเรามีความคิดไม่ถูกต้องพระเจ้าก็จะจัดการเราเหมือนกับที่จัดการกับเปโตร (มธ.16:22-23) บางครั้งเราคิดว่าความคิดของเราถูกต้อง  (สภษ.16:25) เราต้องระมัดระวังความคิดของเราให้ดี  ใจเราต้องจดจ่ออยู่ที่พระเจ้า
2. เหตุผลที่เรามีเป้าหมายใหม่ (คส.3:3-4)
เมื่อเราได้มารู้จักกับพระเจ้า ได้รับชีวิตใหม่แล้ว ทำให้เรากลายเป็นคนใหม่ มีเป้าหมายใหม่เกิดขึ้นในชีวิตของเรา สาเหตุที่ทำให้เรามีเป้าหมายใหม่ก็เพราะเหตุผลดังต่อไปนี้
2.1 เราได้ตายจากชีวิตเก่าแล้ว (คส.3:3)
พระคัมภีร์กล่าวว่า “เพราะว่าท่านได้ตายแล้ว” ทุกคนที่เชื่อได้ตายแล้วต่อเนื้อหนังของตัวเองเราได้อยู่ในพระคริสต์แล้ว เราถูกสร้างขึ้นใหม่แล้ว (2คร.5:17) แต่เราเป็นไทแล้ว (รม.6:12) การตายคือการตรึงตัวเก่าไว้กับพระคริสต์แล้ว คนตายแล้วจึงไม่มีความรู้สึก (รม.6:6-7) เราจึงมีเป้าหมายใหม่
2.2 เรามีชีวิตใหม่ในพระคริสต์แล้ว (คส.3:4)
พระเยซูถูกชุบให้เป็นขึ้นมาจากความตาย มีชัยชนะเหนือความตาย เราจึงไม่ต้องเป็นทาสของบาปอีกต่อไป เราได้รับการเปลี่ยนแปลงใหม่แล้ว  เพราะว่าในพระองค์ทำให้เรามีชีวิต (อฟ.2:1) เราได้รับการเปลี่ยนแปลงจิตใจ (รม.12:2) พระองค์สร้างเราขึ้นใหม่ (ทต.3:5) เราได้สวมสภาพใหม่ (อฟ.4:23-24) ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงโดยพระเจ้าจึงไม่เหมือนใคร เราจึงมีเป้าหมายใหม่
2.3 เราได้รับศักดิ์ศรีร่วมกับพระองค์ (คส.3:4)
คำว่า “ปรากฏ” ในภาษาเดิมหมายถึง “การกลับมาของพระคริสต์” พร้อมทั้งศักดิ์ศรีของพระองค์  ศักดิ์ศรีของเราไม่ได้อยู่ในโลกนี้ แต่อยู่ในแผ่นดินสวรรค์ (2คร.5:10) ศักดิ์ศรีของเราในสวรรค์คือมงกุฎที่ไม่ร่วงโรย (1ปต.5:4) เราต้องตระหนักถึงคุณค่าของศักดิ์ศรีที่เราจะได้รับ (รม.8:30) เราอย่ามัวเสียเวลากับการสิ่งต่างๆที่หาสาระไม่ได้ หรือสิ่งที่ไม่ยั่งยืน 
ดังนั้นเราต้องแสวงหาสิ่งที่อยู่เบื้องบน ด้วยการตัดสินใจ ด้วยการจดจ่ออยู่ที่พระเจ้าเบื้องบน เพราะว่าเราได้ตายแล้วในพระเยซูคริสต์ และเราได้รับชีวิตใหม่แล้วโดยพระองค์ เราจึงมีศักดิ์ศรีซึ่งเป็นสง่าราศีของพระเจ้าที่จะประทานให้กับเรา เราต้องดำเนินชีวิตใกล้ชิดพระเจ้าตลอดเวลา

ขอพระเจ้าอวยพรครับ

18 มีนาคม 2554

ปลดปล่อยโดยพระคุณ


สรุปคำเทศนาวันอาทิตย์ที่ 13 มีนาคม 2011

พระธรรม โคโลสี 2:16-23

อ.เปาโล ได้เตือนสติและหนุนใจพี่น้องให้ระวังอย่าให้ใครมาปรักปรำเราโดยเอากฎเกณฑ์ที่มนุษย์เป็นคนตั้งขึ้นมา ทำให้เราหลงไปจากทางของพระเจ้า หรือจมปลักอยู่กับพันธนาการ  เมื่อเรากลับใจเชื่อพระเจ้า เราได้รับการยกโทษบาปโดยพระเจ้าแล้ว เราจึงไม่ได้อยู่ใต้ธรรมบัญญัติอีกต่อไป ดังนั้นถ้าเราจะเติบโตขึ้นกับพระเจ้า เราต้องไม่ดำเนินชีวิตภายใต้การปรักปรำของธรรมบัญญัติ แต่อยู่ใต้พระคุณของพระเจ้า ธรรมบัญญัติทำให้เรารู้จักบาป แต่เราได้รับการปลดปล่อยโดยพระคุณของพระเจ้า ใช่ว่าธรรมบัญญัติ หรือกฎเกณฑ์ของมนุษย์นั้นไม่ดี แต่ว่ามันดีเกินไปจนทำไม่ได้ เพราะว่าถ้าทำผิดข้อหนึ่งก็เท่ากับทำผิดหมดทุกข้อ เรามาดูเหตุผล 4 ประการที่เราไม่ต้องตกอยู่ใต้ธรรมบัญญัติ เพราะธรรมบัญญัติ
1. เป็นเพียงภาพเงาของเหตุการณ์จริง (คส.2:16-18)
ธรรมบัญญัติเป็นเพียงภาพเงาที่เล็งถึงพระเยซูที่จะมาทำให้ธรรมบัญญัติสมบูรณ์ โดยการฉีกกรมธรรม์ที่ผูกมัดเราไว้ โดยกางเขน (คส.2:14-15) อ.เปาโล ได้เตือนว่าอย่าทุ่มเถียงกันในเรื่องเหล่านี้ (รม.14:1-3) เพราะว่าแผ่นดินของพระเจ้าไม่ใช่เรื่องการกินและการดื่ม (รม.14:17) แต่เราก็ไม่ควรใช้เสรีภาพของเรา (รม.14:15) แต่ให้หลีกหนีหรืองดเว้นจากสิ่งที่เป็นมลทิน (กจ.15:20) บางคนยกพระคัมภีร์บางตอนมาปรักปรำพี่น้องของตน เกี่ยวกับเรื่องวันขึ้นค่ำและวันสะบาโต (อสค.45:15-17) เป็นวันพักสงบในพระเจ้า การพักสงบกับพระเจ้าไม่ใช่เฉพาะวันอาทิตย์หรือวันเสาร์เท่านั้น  (ปฐก.1:31) หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นเรื่องของพฤติกรรมภายนอก แต่พระเจ้าดูที่ภายใน (รม.2:28-29) ธรรมบัญญัติเป็นเพียงภาพเงา (ฮบ.10:1) ของพระเยซู

2. เป็นเพียงรูปแบบภายนอก (คส.2:18, 23)
พระคัมภีร์บอกว่าอย่าให้ใครมาตัดสิทธิ์ หมายถึงการล่อลวง ดูเหมือนถ่อมใจ แต่แท้จริงหาเป็นเช่นนั้นไม่  อย่าเป็นเหมือนฟาริสีที่ยืนอธิษฐานตามตลาด (ลก.18:11-12) พระเยซูว่าพวกฟาริสีว่าวิบัติจะเกิดแก่เจ้า (มธ.23:27-28) อย่าถือแต่เปลือกนอก เราต้องเอาแก่นของความจริงคือสิ่งที่อยู่ภายใน เราต้องเอาหลักการความจริงของพระเจ้า ไม่ใช่เอาแต่กระพี้ (2ทธ.3:5) ยิวแท้คือยิวภายใน (รม.2:29) ชีวิตในพระเจ้าแท้ต้องเกิดขึ้นจากภายในมีความสัมพันธ์กับพระเจ้า คือยอมจำนนต่อพระเจ้า (กท.2:20-21) เราไม่ใช่เจ้าของตัวเราอีกต่อไป พระคริสต์ต่างหากที่เป็นเจ้าของชีวิตเรา  เพราะว่าธรรมบัญญัติเป็นเพียงรูปแบบภายนอกเท่านั้น

3. ไม่มีพระเยซูเป็นศูนย์กลาง (คส.19)
อ.เปาโลบอกว่าเดี๋ยวนี้เรามีพระคริสต์เป็นศีรษะ คือมีพระองค์เป็นศูนย์กลางในชีวิตของเรา  เพราะผู้ที่เชื่อในพระเยซูอยู่ภายใต้การปกคลุมของพระเยซู มนุษย์เป็นคนบาปไม่มีใครสักคนเป็นคนชอบธรรมได้โดยการทำตามธรรมบัญญัติ (รม.3:20) แต่คนที่กลับมาหาพระเจ้าก็ได้รับการปลดปล่อยและมีศักดิ์ศรี (2คร.3:16-18) พระคัมภีร์บอกว่าเราไม่มีผ้าคลุมหน้าอีกต่อไป คือไม่ต้องมีอะไรมาปิดบังสง่าราศีของพระเจ้าในชีวิตของเราอีกต่อไป เพราะต่างก็เป็นอวัยวะของกันและกัน (อฟ.4:15-16)  เพราะว่าคริสเตียน ไม่ได้เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง แต่มีพระเยซูคริสต์เป็นศูนย์กลางในชีวิต

4. นำไปสู่ความพินาศ (คส.2:20-22)
ธรรมบัญญัติทำให้เราต้องถูกพิพากษา เพราะว่าไม่มีใครสักคนเป็นคนชอบธรรมได้โดยธรรมบัญญัติ (รม.3:20) เมื่อคนที่อยู่ติธรรมบัญญัติ ก็อยู่ใต้การพิพากษา เพราะธรรมบัญญัติเป็นเหตุให้มีการพิพากษา (รม.4:15) อ.เปาโล บอกว่าท่านได้ตายจากธรรมบัญญัติแล้วและได้มีชีวิตอยู่ในพระเจ้า (กท.2:19-20) ฟาริสีสอนว่าอาหารบางอย่างเป็นมลทิน แต่พระเยซูสอนว่า สิ่งที่อยู่ข้างในนั่นแหละเป็นมลทิน (มธ.15:18)  (2คร.10:5) เราต้องรับการชำระท่าทีภายในของเราให้สะอาด เพื่อความคิดของเราจะได้ถูกต้อง บางครั้งเราคิดว่าสิ่งที่เราคิดนั้นถูกต้องแต่ความจริงมันผิด (สภษ.16:25) ซึ่งนำเราไปสู่ความพินาศในที่สุด

ขอพระเจ้าอวยพรครับ

13 มีนาคม 2554

คุณสมบัติแห่งการเป็นผู้นำ

ตอนที่ 2
คุณสมบัติด้านการสร้างความประทับใจต่อผู้อื่น

คุณจะสร้างความประทับใจกับผู้อื่นได้อย่างไร “จงให้ความสำคัญกับการทำให้ผู้อื่นรู้สึกดีต่อตัวเขาเอง มากกว่าที่จะให้เขารู้สึกดีต่อตัวคุณ” (แดน ไรแลนด์)
คนส่วนใหญ่คิดว่าการสร้างความประทับใจต่อผู้อื่นเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจ และแทบจะหาคำมาอธิบายไม่ได้ คนส่วนใหญ่คิดว่าคุณสมบัติข้อนี้เป็นสิ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดเท่านั้น แต่ในความเป็นจริง การสร้างความประทับใจต่อผู้อื่นนั้นสามารถอธิบายง่ายๆ ก็คือ ความสามารถในการดึงดูดผู้คนมาหาคุณนั่นเอง 

การพัฒนาตัวเราให้มีบุคลิกให้เป็นที่น่าประทับใจต่อผู้อื่น เราต้องฝึกสิ่งต่อไปนี้จนเป็นนิสัยประจำตัว เพราะการกระทำภายนอกย่อมสะท้อนสิ่งที่ออกมาจากภายในทั้งสิ้น ดังเช่น พระธรรม มัทธิว 15:18 บอกว่า “แต่สิ่งที่ออกจากปากก็ออกมาจากใจ สิ่งนั้นแหละทำให้มนุษย์เป็นมลทิน”

คุณสมบัติด้านการสร้างความประทับใจต่อผู้อื่น เป็นคุณสมบัติที่จำเป็นสำหรับผู้นำที่ต้องการประสบความสำเร็จ มี 4 ประการ ดังนี้

1. มีความกระตือรือร้น
            ใครๆ ก็ชื่นชอบผู้นำที่มีความกระตือรือร้นในชีวิต ร่าเริง ไม่จู้จี้ขี้บ่น และมีความกระตือรือร้น หากคุณอยากเป็นคนที่น่าประทับใจต่อผู้อื่น คุณต้องมีลักษณะเช่นเดียวกันกับคนที่คุณอยากใช้เวลาด้วย จอห์น เวสเลย์ นักประกาศผู้ฟื้นฟูประเทศจีนในช่วงศตวรรษที่ 18 ได้กล่าวไว้ว่า “ยามที่คุณเต็มไปด้วยความกระตือรือร้นราวกับมีไฟเผา ผู้คนก็จะแห่กันมาดูคุณที่ลุกโชติช่วง”
            อาจารย์เปาโลเป็นผู้หนึ่งที่มีความกระตือรือร้นในการปรนนิบัติรับใช้พระเจ้า "ข้าพเจ้าเป็นยิว เกิดในเมืองทาร์ซัสแคว้นซีลีเซีย แต่ได้เติบโตขึ้นในเมืองนี้  จึงมีใจร้อนรนในการปรนนิบัติพระเจ้า เหมือนอย่างท่านทั้งหลายทุกวันนี้ (กจ.22:3)

2. เห็นคุณค่าผู้อื่น
ในพระธรรม 1 โครินธ์ 13:7 ได้บอกความจริงเกี่ยวกับความรักเอาไว้ว่า “ความรักทนได้ทุกอย่างแม้ความผิดของคนอื่น และเชื่อในส่วนดีของเขาอยู่เสมอ และมีความหวังอยู่เสมอ และทนต่อทุกอย่าง”
การเห็นคุณค่าผู้อื่นเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสิ่งหนึ่ง ที่คุณสามารถทำเพื่อผู้อื่นได้ โดยที่คุณไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไรเลย  เราอาจเรียกวิธีนี้ว่าเป็นการให้คะแนนเต็ม “10” แก่ทุกคน  ตามที่ ฌ้าค วีเซล ได้สรุปผลการวิจัยทัศนะคติเศรษฐีผู้ร่ำรวยพบว่า “จากผลสำรวจทัศนคติเศรษฐีเงินล้านจำนวนหนึ่งร้อยคน ที่สร้างฐานะขึ้นมาด้วยลำแข้งตนเอง พบว่า พวกเขามีสิ่งหนึ่งที่มีความคล้ายกัน นั่นก็คือ ผู้ประสบความสำเร็จอย่างสูงเหล่านี้ มองเห็นแต่ข้อดีในผู้อื่น” 

3. เป็นนักให้กำลังใจที่ดี
นโปเลียน โบนาปาร์ต นายพลฝรั่งเศส ให้คำนิยามผู้นำไว้ว่า เป็น “นักค้าความหวัง” เฉกเช่นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ทั้งปวง นโปเลียนรู้ว่า ความหวังคือสมบัติสุดล้ำค่า  ตัวอย่างผู้รับใช้ที่ได้รับฉายาว่า “นักให้กำลังใจ” คือ บานาบัส (กจ.4:36 …บารนาบัส แปลว่าลูกแห่งการหนุนน้ำใจ…) 
1เธสะโลนิกา 5:14 และพี่น้องทั้งหลาย เราขอวิงวอนพวกท่านให้ตักเตือนคนที่เกียจคร้าน หนุนน้ำใจผู้ที่ท้อใจ ชูกำลังคนที่อ่อนกำลัง และมีใจอดเอาเบาสู้ต่อคนทั้งปวง

4. เรียนรู้ที่จะแบ่งปันชีวิตต่อกัน
พระธรรม กาลาเทีย 6:2 บอกว่า “จงช่วยรับภาระของกันและกัน ท่านจึงจะได้ปฏิบัติตามพระบัญญัติของพระคริสต์”
การแบ่งปันชีวิตต่อกันและกันค่อนข้างเป็นเรื่องยากสำหรับวัฒนธรรมของคนไทย หรือคนเอเชีย ผู้นำต้องกล้าแบ่งปันชีวิตตนเองหรือวิถีชีวิตของตนเองแก่ผู้อื่น  ผู้นำที่รู้จักแบ่งปันชีวิตต่อกันและกันเป็นการลดระยะห่างของความรู้สึกของผู้อยู่ภายใต้ได้อย่างดี

การประยุกต์เพื่อนำไปปฏิบัติ :
ในการพัฒนาคุณสมบัติด้านการสร้างความประทับใจต่อผู้อื่น
จงทำสิ่งต่อไปนี้
1. เบนความสนใจของคุณ  ถ้าการสนทนาของคุณให้ความสนใจไปที่ตัวคุณเป็นส่วนใหญ่ คุณต้องเบนความสนใจที่ตัวของคุณไปยังคนที่คุณสนทนาด้วย 
2. ฝึกสร้างความประทับใจแรกพบ  ฝึกที่จะจำชื่อคนให้แม่น ให้ความสนใจในสิ่งที่เขาสนใจ รวมทั้งมีทัศนคติที่ดี และที่สำคัญที่สุดก็คือ จงปฏิบัติต่อผู้อื่นแบบให้คะแนนเต็ม “10” แก่เขา 
3. แบ่งปันชีวิตต่อกันและกัน ตั้งเป้าหมายระยะยาวที่คุณจะแบ่งปันชีวิตของคุณแก่ผู้อื่น หาทางที่จะเพิ่มพูนคุณค่าชีวิตให้กับคนใกล้ตัว  และอย่าลืมแบ่งปันวิถีทางดำเนินชีวิตของคุณเองกับผู้อื่นด้วย

คำถามเพื่ออภิปราย :
คุณจะให้คะแนนตัวเองอย่างไรในเรื่องการสร้างความประทับใจต่อผู้อื่น? คุณดึงดูดใจคนได้โดยง่ายหรือไม่? คุณเป็นที่น่าชื่นชอบหรือไม่? หากคำตอบคือไม่คุณคิดว่าอะไรที่เป็นอุปสรรค? ให้แบ่งปันร่วมกัน

ข้อพระคัมภีร์สำหรับท่องจำ :
ฟิลิปปี 2:15 “เพื่อท่านทั้งหลายจะไม่ถูกติเตียน และไม่มีความผิด เป็นบุตรที่ปราศจากตำหนิของพระเจ้าในท่ามกลางพงศ์พันธุ์ที่คดโกงและวิปลาส ท่านปรากฏในหมู่พวกเขาดุจดวงสว่างต่างๆ ในโลก”
(อ่านเพิ่มเติมได้ที่ www.churchofpeace2010.org)

ที่มา: John C. Maxwell, 21 คุณสมบัติหลักแห่งการเป็นผู้นำ

09 มีนาคม 2554

สู่ความบริบูรณ์ในพระคริสต์


สรุปคำเทศนาวันอาทิตย์ที่ 7 มีนาคม 2011

พระธรรม โคโลสี 2:8-15

อ.เปาโลได้เตือนพี่น้องที่โคโลสีไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของหลักปรัชญาและคำล่อลวงอันเหลวไหลตามตำนานของมนุษย์ และตามวิญญาณต่างๆของสากลจักวาล เพราะว่าในเวลานั้นเริ่มมีหลักปรัชญาต่างๆของมนุษย์เข้ามาในคริสตจักร อ.เปาโลหนุนใจให้ดำเนินชีวิตใกล้ชิดพระเจ้าให้มากที่สุด เพื่อนำชีวิตของเราเข้าสู่ความบริบูรณ์ในพระคริสต์ เราจะมาดูด้วยกันว่า เราจะเข้าสู่ความบริบูรณ์ในพระคริสต์ได้อย่างไรบ้าง 3 ประการ

1. หนีจากสิ่งแปลกปลอม (คส.2:8)
อ.เปาโลบอกว่าจงระวังให้ดี ซึ่งเป็นการย้ำต่อเนื่องมาจากก่อนหน้านี้ว่าอย่าให้ใครมาวางรากอื่นให้อีกนอกจากรากของพระคริสต์ที่ได้วางไว้ให้แล้ว พระเยซูเป็นทางเดียวที่นำเราไปสู่ความรอด (ยน.14:6) พระเยซูเป็นแหล่งแห่งความจริงทั้งมวล สิ่งแปลกปลอมที่ อ.เปาโล กล่าวถึงคืออะไร
1.1 ปรัชญาของโลก (คส.2:8) คือสิ่งที่มาจากประมวลความคิดของมนุษย์ รวมทั้งมาจากค่านิยม ขนบธรรมเนียม ประเพณี ที่หล่อหลอมมาจากการเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง และมาชักชวนเราให้หลง (คส.2:18) ซึ่งดูเหมือนดี (คส.2:23) แต่ทำให้คนหลงไปจากทางของพระเจ้า (อฟ.4:14) เราจึงต้องระวัง ดังนั้นเองปรัชญาของโลกเราต้องหนีให้ไกล
1.2 การล่อลวง (คส.2:8) นอกจากปรัชญาของโลกแล้วการล่อลวงก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เราต้องหนีให้ไกล ปรัชญาเกิดจากการสำคัญผิด แต่การล่อลวงเป็นความตั้งใจ คือตั้งใจทำให้คนอื่นเข้าใจผิด (อฟ.4:14) วิธีที่เราจะหนีพ้นจากการล่อลวงทางความคิดได้ คือการน้อมนำความคิดมาอยู่ใต้พระวจนะ (ยก.1:22) (2คร.10:4-5) การล่อลวงมาจาก 2 แหล่ง คือ มาจากมนุษย์ และมาจากมารซาตาน ซึ่งเข้ามามีอิทธิพลในชีวิต 
ดังนั้นเราจะต้องหนีจากสิ่งแปลกปลอมด้วยการพึ่งพาพระคุณของพระเจ้า

2. ตายต่อตัวเอง (คส.2:9-12)
การตายต่อตัวเอง คือการยอมจำนนต่อพระเจ้า เป็นเหมือนพระเยซู มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน (ยน.10:30, 38) พระเยซูเป็นแหล่งแห่งความบริบูรณ์ พระองค์มาเพื่อให้ความบริบูรณ์กับเรา (ยน.10:10) (อฟ.4:13) ชีวิตที่ยอมตายต่อตัวเองคือชีวิตที่ยอมจำนนต่อพระเจ้า จะได้รับสิทธิพิเศษ 3 ประการ คือ
2.1 ให้พระเยซูเข้ามาครอบครอง (คส.2:10) ชีวิตของเราอยู่ภายใต้ร่มพระคุณของพระเจ้า เราได้รับสิทธิแห่งการครอบครองร่วมกับพระองค์ (อฟ.1:20-22) เราก็มีสิทธิอำนาจเหนือสิ่งเหล่านั้นด้วย
2.2 ได้เข้าร่วมในการตาย (คส.2:11) คือร่วมในการตายของพระเยซูคริสต์ที่กางเขน เราได้เข้าสุหนัตที่มือมนุษย์ไม่ได้กระทำ เป็นการเข้าสุหนัตที่จิตใจ โดยความเชื่อ (รม.2:28-29) และถูกฝังไว้กับพระองค์ (รม.6:3-4) อ.เปาโลบอกว่าท่านเองได้ถูกตรึงไว้แล้ว (กท.2:20) เราได้เข้าส่วนในการตายร่วมกับพระองค์
2.3 ได้เข้าร่วมในการเป็น (คส.2:12) คือร่วมในการเป็นขึ้นมาจากความตายของพระเยซูคริสต์ พระเยซูเป็นบุตรหัวปีแห่งการคืนพระชนม์ ในที่สุดเราทุกคนต้องมายืนต่อหน้าบัลลังค์ของพระเจ้า (1ธส.4:13-16) การตายเป็นเพียงการหลับ เมื่อหลับจึงมีการตื่น เมื่อตื่นได้นั่นก็แสดงว่าเรายังมีชีวิตอยู่

3. ยำเกรงพระเจ้า (คส.2:13-15)
คนที่เข้าสูความบริบูรณ์ของพระคริสต์ได้จะต้องเป็นคนที่ยำเกรงพระเจ้า สาเหตุที่ยำเกรงพระเจ้าเพราะ
3.1 ได้รับการยกโทษบาป (คส.2:13) เมื่อทุกคนเป็นคนบาป จะต้องถูกพิพากษาลงโทษ แต่เพราะคุณความรักของพระเจ้าทำให้เราได้รับการยกโทษบาป (ลก.7:42-43) เราได้รับสิทธิพิเศษนี้โดยพระเยซูคริสต์ ทำให้เรายำเกรงพระเจ้ามาย เพราะว่าพระองค์ทรงรักเรามาก
3.2 ทำให้เราหลุดพ้นจากคำสาปแช่ง (คส.2:14) พระองค์ได้ฉีกกรมธรรม์ซึ่งได้ผูกมัดเราด้วยบัญญัติต่างๆ พระเจ้าอยู่ที่ไหนเสรีภาพก็อยู่ที่นั่น (2คร.3:17-18) เราหลุดพ้นจากคำสาปแช่งเมื่อเรามาเชื่อวางใจในพระเจ้า พระพรจึงเป็นของเรา
3.3 มีชัยชนะเหนือผีวิญญาณชั่ว (คส.2:15) พระเยซูทรงปลดเทพผู้ครองและศักดิเทพเสีย ใครก็ตามที่เชื่อวางใจในพระองค์และรับพระองค์เข้ามาในชีวิตเค้าก็จะมีชัยชนะร่วมกับพระองค์ (วว.19:20) พระองค์ชนะมารร้าย (วว.12:11) เราจึงมีชัยชนะร่วมกับพระเยซูด้วย เราต้องยำเกรงพระเจ้าด้วย
คนที่จะเข้าสู่ความบริบูรณ์ของพระคริสต์ได้จะต้องเป็นคนที่หนีจากสิ่งแปลกปลอม ต้องยอมตายต่อตัวเอง และต้องดำเนินชีวิตด้วยการยำเกรงพระเจ้า และเราจะพบความบริบูรณ์ของพระเจ้าในชีวิตของเรา

ขอพระเจ้าอวยพรครับ

02 มีนาคม 2554

มาตรวัดชีวิต...ในพระเจ้า


สรุปคำเทศนาวันอาทิตย์ที่ 27 กุมภาพันธ์ 2010

พระธรรม โคโลสี 2:6-7

หลังจากที่ อ.เปาโล ได้หนุนใจพี่น้องโคโลสี ในดำเนินชีวิตแบบอยู่เพื่อคนอื่น เหมือนอ.เปาโลได้เป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตอยู่เพื่อคนอื่นมาแล้ว ต่อมา อ.เปาโลได้บอกกับผู้เชื่อที่โคโลสีว่า การที่เราจะมีชีวิตอยู่เพื่อคนอื่นได้นั้น ตัวเราเองจะต้องมีชีวิตในพระเจ้าก่อน เพราะว่า เราได้รับเอาพระเยซูคริสต์มาแล้ว คือการดำเนินชีวิตที่ยินยอมให้พระเจ้านำพาชีวิตของเราอย่างไม่ขัดขืน เช่น เอโนดเดินกับพระเจ้า (ปฐก.5:24) โนอาห์ (ปฐก.6:9) เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเรามีชีวิตในพระเจ้ามากน้อยเพียงใด จากพระธรรมต้อนนี้ เราได้มาตรวัด 4 ประการคือ

1. ความสัมพันธ์ที่ดี (คส.2:7)
อ.เปาโลบอกว่า จงหยั่งราก เป็นคำสั่งให้เราลงลึกในความสัมพันธ์กับพระเจ้า เป็นภาพของต้นไม้ที่หยั่งรากลึกลงไปในดิน ก็จะมีความอุดมสมบูรณ์ (ยรม.17:8) ต้นไม้ที่หยั่งรากลึกก็สามารถที่จะหาน้ำหาอาหารได้มากกว่า อ.เปาโลได้ประกาศว่าอย่าให้ผู้ใดมาวางรากอื่น (1คร.3:11) อ.เปาโลได้วางรากลงในพระเยซูแล้วจึงยอมสละสิ่งสารพัดได้ (ฟป.3:8) อ.เปาโลต้องการวางรากฐานในพระเยซูทุกวัน (ฟป.8:10) เราต้องระมัดระวังอย่างประนีประนอม คำว่าไม่เป็นไร นิดเดียวเอง อย่าให้มีในชีวิตของเรา  ความสัมพันธ์ในพระเจ้าดี นี่คือมาตรวัดชีวิต ประการแรก คือความสัมพันธ์ที่ดี

2. ตอบสนองถูกต้อง (คส.2:7)
การก่อร่างสร้างขึ้น เป็นภาพของการสร้างตึก วัสดุจะต้องยอมให้ช่างก่อสร้างจัดตามแบบ บ้านจึงจะออกมาสวยงาม ชีวิตของเราก็เช่นกัน จะต้องยอมให้พระเจ้าจัดการกับชีวิตของเรา ดังนั้นเราจึงต้องหยั่งรากลงในพระเจ้าอย่างเอาจริงเอาจังเพื่อเราจะเกิดผล (อสย.37:31) เราจะเกิดผลมาก (ยรม.12:2) ให้เราตอบสนองตามความต้องการของพระองค์ พระองค์มีพิมพ์เขียวสำหรับชีวิตของเรานั่นคือพระวจนะ อ.เปาโลได้ฝากพี่น้องผู้เชื่อไว้กับพระคำแห่งพระคุณ (กจ.20:32) รากฐานดีข้างบนก็จะดีตามไปด้วย ถ้ารากฐานเบี้ยวข้างบนกะบิดเบี้ยวตามไปด้วย พระวจนะของพระเจ้าเป็นรากฐานสำหรับเรา เพื่อจะปรับเปลี่ยนเราให้ดี (2ทธ.3:16-17) ดังนั้นเราต้องตอบสนองต่อพระวจนะของพระเจ้าทุกครั้ง เพราะว่านี่คือมาตรวัดชีวิตของเราในพระเจ้า คือการตอบสนองถูกต้อง

3. มั่นคงไม่หวั่นไหว (คส.2:7)
จงมั่นคงอยู่ในความเชื่อ หมายถึงไม่หวั่นไหว ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น คำว่ามั่นคงไม่หวั่นไหว เป็นภาพของเอกสารทางกฎหมาย เช่น บัตรประจำตัวประชาชน หรือพาสปอร์ต หรือหนังสือเดินทาง  ไม่มีใครสามารถอ้างสิทธิแทนเราได้ ความเชื่อเราต้องมั่นคง เพราะว่าเรามีรากฐานที่ดีคือพระวจนะ (สดด.119:165) คำว่า สะดุด จะไม่มีในพจนานุกรมของคริสเตียนเลย บางครั้งพระเจ้าส่งการทดลองเข้ามาเพื่อจะทดสอบว่าเรายังมั่นคงอยู่หรือเปล่า (ยก.1:3) นี่คือสิ่งที่สาม ที่เป็นมาตรวัดชีวิตของเราในพระเจ้า คือ มั่นคงไม่หวั่นไหว

4. มีใจขอบพระคุณ (คส.2:7)
อ.เปาโลใช้คำว่า ขอบพระคุณ ถึง 42 ครั้ง คำว่า บริบูรณ์ด้วยการขอบพระคุณ หมายถึง ไม่สิ้นสุด ไม่มีขีดจำกัด  จงบริบูรณ์ด้วยการขอบพระคุณ คือให้ขอบคุณพระเจ้าเสมอๆ ขอบคุณทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น  ถ้าเรามองด้วยสายตาฝ่ายวิญญาณ เราก็จะเห็นในฝ่ายวิญญาณ บางเรื่องที่เกิดขึ้นถ้ามองในสายตาฝ่ายเนื้อหนังบอกว่าเป็นเรื่องไม่ดี แต่ถ้ามองในสายตาฝ่ายวิญญาณแล้วสามารถขอบคุณพระเจ้าได้  พระเจ้าให้ทุกสิ่งกับเราเพื่อจะให้เกิดการขอบพระคุณ (2คร.9:11) ดาวิดมีชีวิตกับพระเจ้า จนทำให้ท่านสามารถสรรเสริญและขอบคุณพระเจ้าได้วันละเจ็ดครั้ง (สดด.119:164) คนที่ไม่เดินกับพระเจ้าจะไม่ใจขอบพระคุณ (รม.1:21) คนที่มีชีวิตในพระเจ้าเค้าจะปลอดภัย เหมือนนางราหับ (ยชว.6:25) จงขอบคุณพระเจ้าทุกรณี นี่เป็นอีกมาตรวัดหนึ่ง ว่าเรามีชีวิตในพระเจ้าหรือไม่ นั่นคือ การมีใจขอบพระคุณ

ดังนั้นเราต้องเอามาตรวัดทั้ง 4 อันนี้มาวัดตัวเราเองทุกวันว่า เรามีชีวิตในพระเจ้ามากน้อยเพียงไร สิ่งไหนที่มันยังน้อยไป เราต้องรีบแก้ไขชีวิตของเรา

ขอพระเจ้าอวยพรครับ

01 มีนาคม 2554

คุณสมบัติแห่งการเป็นผู้นำ

ตอนที่ 1
คุณสมบัติด้านคุณธรรม

ภาวะความเป็นผู้นำ เป็นตัวกำหนด “ความสำเร็จหรือความล้มเหลวของทุกสิ่งทุกอย่างก็ขึ้นกับภาวะผู้นำ” กุญแจสำคัญที่จะปรับเปลี่ยนตัวคุณเองจากคนที่มีเพียงความเข้าใจในเรื่องการเป็นผู้นำไปสู่การเป็นผู้นำที่ประสบความสำเร็จในโลกแห่งความเป็นจริง เรามาเรียนรู้คุณสมบัติที่จำเป็นในการเป็นผู้นำ 21 ประการ ด้วยกัน
คุณสมบัติประการแรก คือ “คุณสมบัติด้านคุณธรรม” การที่ผู้นำจัดการกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตอย่างไรนั้น ก็บ่งบอกอะไรได้หลายอย่างเกี่ยวกับภาวะด้านคุณธรรมของผู้นำท่านนั้น “สถานการณ์ใช่ว่าจะสร้างวีระบุรุษได้เสมอไป แต่จะเผยให้เห็นถึงธาตุแท้ของเขาได้เสมอ”  พูดถึง “คุณสมบัติด้านคุณธรรม” เราควรรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับคำว่า “คุณธรรม” บ้าง? เราจะมาเรียนรู้ด้วยกันเกี่ยวกับคำว่า “คุณธรรม”

1. คุณธรรมเป็นยิ่งกว่า “คำพูด”
ใครๆ ก็พูดได้ว่า “ตนเองซื่อสัตย์สุจริต” แต่การกระทำต่างหากที่เป็นสิ่งตัดสินคำกล่าวอ้างนั้น “คุณธรรมที่คุณมีเป็นสิ่งกำหนดความเป็นตัวคุณ ตัวคุณเองกำหนดสิ่งที่คุณเห็น และสิ่งที่คุณเห็นก็กำหนดสิ่งที่คุณกระทำ” ดังนั้นคุณจึงไม่สามารถแยกคุณธรรมออกจากการกระทำของแต่ละบุคคลได้

2. คุณธรรมคือ “สิ่งที่เลือกที่จะกระทำ”
เราไม่สามารถเลือกสถานที่เกิดและสภาพแวดล้อมที่เราโตขึ้นมาได้ หรือเราไม่สามารถที่จะเลือกพรสวรรค์หรือแม้แต่ระดับไอคิวของเราเองได้ แต่เราสามารถ “เลือกที่จะมีคุณธรรมได้” เราสามารถเสริมสร้างคุณธรรมให้กับตัวเราเองทุกๆ ครั้งที่เรายอมเลือกในสิ่งที่ถูกต้อง ดังนั้น ขณะที่เราดำเนินชีวิตและตัดสินใจเลือกอย่างถูกต้องในวันนี้ เราก็กำลังสั่งสมความมีคุณธรรมให้กับตัวเราเองมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

3. คุณธรรมนำมาซึ่ง “ความสำเร็จอันยั่งยืน”
ผู้ตามจะไม่ไว้วางใจผู้นำที่มี “ความบกพร่องในด้านคุณธรรม” และพวกเขาจะเลิกตามผู้นำเช่นนั้นในที่สุด  เราต้องหลีกหนีให้ไกลจากผู้นำที่ไร้คุณธรรม และผู้นำที่มีคุณธรรมก็จะเป็นที่ดึงดูดให้มีคนมากมายติดตาม 

4. ผู้นำไม่สามารถทำตัว “อยู่เหนือ” คุณธรรมของเขา
คุณเคยเห็นคนมีความสามารถสูง ที่อยู่ดีๆ ก็ล้มลงหลังประสบความสำเร็จได้ถึงถึงระดับหนึ่งหรือไม่? สาเหตุของปรากฏการณ์ดังกล่าวก็คือ “การขาดคุณธรรม”  คนที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง แต่ขาดคุณธรรมเป็นรากฐานค้ำจุนภายใต้สภาวะกดดัน ก็จะมุ่งเน้นไปสู่ความหายนะ  เพราะด้อยคุณธรรม 


การประยุกต์เพื่อนำไปปฏิบัติ : ในการปรับปรุงด้านคุณธรรม จงทำสิ่งต่อไปนี้
·       หารอยร้าว ใช้เวลาสำรวจด้านต่างๆ ที่สำคัญในชีวิต  ถ้าคุณหามันไม่พบนั่นแสดงว่าคุณเป็นคนดีมากๆ
·       หาสิ่งซ้ำรอย  พิจารณาการกระทำต่างๆ จากสิ่งที่คุณเพิ่งเขียนลงไป มีเรื่องใดบ้างที่เป็นจุดอ่อนของคุณ
·       เผชิญหน้ากับปัญหา  เมื่อคุณค้นพบปัญหาและสาเหตุของปัญหาแล้ว คุณต้องแก้ไขมัน 
·       เริ่มต้นใหม่  การเผชิญหน้ากับปัญหา และการแสดงความรับผิดชอบในสิ่งที่ผ่านมาแล้วในอดีตเป็นเรื่องหนึ่ง 

คำถามเพื่ออภิปราย : อภิปรายร่วมกันว่าทำไมบางครั้ง “คำพูดและการกระทำของเราถึงไม่สอดคล้องกัน” เพราะเหตุใด? และเราจะแก้ไขนิสัยนี้อย่างไรให้หายอย่างเด็ดขาด
ข้อพระคัมภีร์สำหรับท่องจำ : 2เปโตร 1:5 เพราะเหตุนี้เอง ท่านจงอุตส่าห์จนสุดกำลังที่จะเอาคุณธรรมเพิ่มความเชื่อ เอาความรู้เพิ่มคุณธรรม

ที่มา: John C. Maxwell, 21 คุณสมบัติหลักแห่งการเป็นผู้นำ.

คุณลักษณะของการเป็นผู้นำที่มีประสิทธิผล

หากจะกล่าวว่า "ความสำเร็จหรือความล้มเหลว" ของทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับภาวะผู้นำก็ว่าได้ หรือจะกล่าวว่า "ผู้นำ" คือ "กุญแจ" ที่จะไขเปิดประตูออกไป ก็คงไม่ผิดนัก แต่ "กุญแจ" ที่จะไขประตูนั้น มีทั้งลูกที่ไขไปสู่ความสำเร็จ และลูกที่ไขไปสู่ความล้มเหลว ขึ้นอยู่กับภาวะของผู้นำแต่ละท่านว่าจะเลือกลูกไหนไปไข

ถ้าหากท่านต้องการเป็นผู้นำ และเป็นผู้นำที่ีมีประสิทธิผล คือเป็นผู้นำที่ประสบความสำเร็จ จะต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจว่าผู้นำที่ประสบความสำเร็จนั้น มีคุณสมบัติหรือคุณลักษณะอย่างไร ด้านไหนบ้าง

คริสตจักรแห่งสันติภาพตระหนักถึงความสำคัญของการมีผู้นำที่มีประสิทธิผล และต้องการจะสร้างและพัฒนาผู้นำและพี่น้องในคริสตจักรให้มีความเป็นผู้นำที่มีประสิทธิผล และเข้าใจหลักแห่งคุณสมบัติของการเป็นผู้นำ จึงได้ทำบทเรียนเกี่ยวกับการพัฒนาผู้นำ เป็นบทเรียนสั้นๆ แต่อัดแน่นไปด้วยเนื้อหาสาระ เป็นบทเรียนเชิงแนวคิด เปิดให้มีการอภิปรายและการประยุกต์ใช้ โดยนำหนังสือเรื่อง "21 คุณสมบัติหลักแห่งการเป็นผู้นำ" ของ จอห์น ซี. แมคเวลล์ ซึ่งเป็นหนังสือที่มีคนอ่านมากที่สุดเล่มหนึ่ง มาดัดแปลงเพิ่มเติมและใส่พระคัมภีร์ลงไป ซึ่งมีทั้งหมด 21 ตอน ตามชื่อหนังสือ สอนสมาชิกของคริสตจักรในระหว่างสัปดาห์ตามกลุ่มแคร์ หรือกลุ่มเซลล์ ซึ่งจะทำให้มีความเข้าใจความเป็นผู้นำมากขึ้น และสามารถพัฒนาตนเองให้เป็นผู้นำที่ประสบความสำเร็จ ทั้งในชีวิตครอบครัว หน้าที่การงาน และการรับใช้พระเจ้า

ผมจะทยอยสรุปบทเรียนเกี่ยวกับคุณสมบัติของการเป็นผู้นำซึ่งมีทั้งหมด 21 ตอนมาแบ่งปันให้กับพี่น้องทุกท่านที่สนใจ และต้องการพัฒนาตนเองให้เป็นผู้นำที่มีประสิทธิผล ผมหวังว่าบทเรียนนี้จะเป็นประโยชน์กับท่านบ้างไม่มากก็น้อย หากท่านสนใจสามารถติดตามได้ที่เว็บไซท์ www.churchofpeace2010.org ซึ่งจะมีเนื้อหาครบถ้วนมากกว่า

ขอพระเจ้าอวยพรครับ